นักวิจัยค้นพบวิธีการใหม่ ตรวจสอบงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซ

ทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งจอร์เจีย (จอร์เจีย เทค) ทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์และหุ้นส่วนเชิงพาณิชย์จากฝรั่งเศส ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคนิคใหม่ในการตรวจสอบงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซ ที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี โดยอาศัยเทคโนโลยีสแกนที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ ในการตรวจสอบหารายละเอียดหลายอย่างที่ไม่เคยรู้กันมาก่อน ตั้งแต่ในขั้นตอนการเตรียมการ, การลงสีและการบำรุงรักษา

เทคโนโลยีดังกล่าวเดิมพัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้ในการสำรวจทางธรณีวิทยาและการสำรวจหาแหล่งน้ำมันดิบ เรียกว่า “ไทม์-โดเมน เทราเฮิร์ตซ์ รีเฟลคโทเมทรี อิเมจจิง” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เทราเฮิร์ตซ์ อิเมจจิง” ซึ่งมีหลักการทำงานโดยใช้วิธีการยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (อีเอ็ม) เข้าใส่ภาพจิตรกรรมที่ต้องการซึ่งติดตั้งไว้บนขาหยั่งที่จัดทำขึ้นพิเศษ เมื่อคลื่นอีเอ็มผ่านทะลุเข้าไปในลำดับชั้นต่างๆ ของสีและผ้าใบ ส่วนหนึ่งจะถูกสะท้อนกลับออกมาให้เครื่องตรวจจับนำไปประมวลผลตามเวลาจริง โดยอาศัยเทคนิคการประมวลผลที่รู้จักกันในชื่อ “สปาร์ซิตี-เบส ไทม์-โดเมน ดีคอนโวลูชั่น” ซึ่งจะทำหน้าที่จำแนกสัญญาณสะท้อนของแต่ละชั้นสีออกจากกัน และช่วยให้เครื่องสแกนสามารถนำข้อมูลมาประกอบกันขึ้นใหม่เป็นภาพ 3 มิติของงานจิตรกรรมชิ้นนั้นๆ ได้

เดวิด เซอร์ติน ศาสตราจารย์ประจำสำนักวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ของจอร์เจีย เทค ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมรายงานการค้นพบเทคนิคใหม่ในครั้งนี้ อธิบายว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ใช้เพื่อการนี้มีความยาวช่วงคลื่นสั้นเป็นพิเศษ เพียงแค่ 1 พิโคเซคกันด์ เท่านั้น ซึ่งหากนำมาซ้อนๆ ทับกัน ก็จะได้ราว 1 ล้านล้านคลื่นใน 1 วินาที ทำให้เครื่องสแกนที่ใช้เทคนิคนี้สามารถจำแนกความต่างระหว่างชั้นสีต่างๆ ที่มีความห่างจากกันเพียง 20 ไมครอน (เทียบเท่ากับความหนา 20 ส่วนใน 100 ส่วนของเส้นผมโดยเฉลี่ยของบุคคลทั่วไป)

Advertisement

ทีมวิจัยทดลองใช้เทคนิคนี้ในการตรวจสอบงานจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงจากศตวรรษที่ 17 อย่างภาพ “มาดอนนา อิน พรีเกียรา” ผลงานของจิตรกรอิตาเลียนยุคบาโรค อย่าง “โจวานนี บัททิสตา ซัลวี ดา ซัสโซเฟอร์ราโต” ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ มูซี เดอ ลา กูร์ ดอร์ เมตซ์ เมโตรโปล ในนครเมตซ์ ประเทศฝรั่งเศส พบว่า สามารถจำแนกภาพจิตรกรรมล้ำค่านี้ออกมาได้ในหลากหลายชั้นเพื่อการตรวจสอบ ตั้งแต่พื้นผิวเดิมของผ้าใบ, สีรองพื้น, การร่างภาพ, การลงสีกลาง (อิมพรีมาทูรา) และการลงสีชั้นถัดมา เป็นต้น

การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสแกนยังแสดงให้เห็นถึงการบูรณะภาพเขียนชิ้นนี้ในชั้นวาร์นิชสำหรับขัดเงา ซึ่งไม่เคยมีใครรู้มาก่อนอีกด้วย

เทคนิคในการตรวจสอบภาพจิตรกรรมใหม่นี้ อำนวยประโยชน์เป็นพิเศษให้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ โดยไม่จำเป็นต้องแตะต้อง ทำลายบางส่วนของรูปภาพเลยอีกด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image