“โออูมูอามูอา” หรือเป็นยานเอเลียน?

วัตถุลึกลับรูปทรงเรียวยาวคล้ายซิการ์ ที่ถูกขนานนามด้วยภาษาฮาวายว่า “โออูมูอามูอา” ซึ่งเคลื่อนที่เข้ามาในระบบสุริยะด้วยความเร็วสูงถึง 315,431.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านเข้ามาใกล้โลกในระยะห่างราว 85 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ แม้ว่านักดาราศาสตร์ส่วนหนึ่งตั้งสมมุติฐานว่า วัตถุดังกล่าวคือดาวเคราะห์น้อยที่เดินทางมาจากกลุ่มดาวอื่นหรือดาราจักร (กาแล็กซี) อื่น แต่รูปร่างพิสดารของมันก็ยังก่อให้เกิดความกังขาในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่มันจะเป็นยานอวกาศของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว

ความสงสัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระบวนการตรวจสอบทันที จากทีมนักวิทยาศาสตร์ของโครงการ เบรกทรู ลิสเซน โปรเจ็กต์ โครงการควานหาอารยธรรมต่างดาวซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก ยูริ มิลเนอร์ มหาเศรษฐีอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ ศูนย์วิจัย เซติ เบิร์กลีย์ ในบริเวณมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ผลการตรวจสอบเบื้องต้น ยังไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า วัตถุลึกลับนี้คือยานอวกาศที่เป็นผลงานของอารยธรรมจากต่างดวงดาวเหมือนที่หลายคนสงสัยกัน

เอวี โลบ ศาสตราจารย์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของโครงการเบรกทรู ลิสเซน โปรเจ็กต์ ให้รายละเอียดการตรวจสอบว่า เป็นการสุ่มสำรวจเหมือนการตกปลา ซึ่งเป็นไปได้มากว่าอาจไม่พบอะไรเลย แต่ก็คุ้มค่ากับการที่ได้ตรวจสอบตาเบ็ดไปเรื่อยๆ

Advertisement

“เราจะยังคงค้นหาสัญญาณแปลกปลอม (ที่ไม่ได้เกิดโดยธรรมชาติ) จาก โออูมูอามูอา หรือวัตถุที่เดินทางระหว่างดวงดาวอื่นๆ ไปเรื่อยๆ ไม่แน่นักว่าเราอาจได้การค้นพบที่สำคัญได้ในอนาคต”

ทีมตรวจสอบของ เบรกทรู ลิสเซน โปรเจ็กต์ เริ่มต้นยิงสัญญาณวิทยุควานหาสัญญาณ 4 ชุดแรก จากเวลา 03.45 น.ของวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม เรื่อยไปจนถึงเวลา 09.45 น.ของวันเดียวกัน โดยใช้ความถี่ตั้งแต่ 1 จนถึง 12 GHz จากนั้นนำเอาสัญญาณการตรวจสอบที่ได้มาผ่านกระบวนการเพื่อค้นหาสัญญาณแปลกปลอม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติใดๆ ในย่านความถี่ตั้งแต่ 1.7 จนถึง 2.6 GHz ส่วนของสัญญาณที่เหลือยังอยู่ระหว่างกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูลอยู่ในเวลานี้

แอนดรูว์ ซีเมียน ผู้อำนวยการ เบิร์กลีย์ เซติ รีเสิร์ช เซนเตอร์ ยอมรับว่า จากการตรวจสอบสัญญาณจากทั้ง 4 ย่านความถี่ชุดแรกไม่พบสัญญาณอะไรส่งออกต่อเนื่องจากโออูมูอามูอา และกำลังรอการสังเคราะห์ข้อมูลอื่นๆ ที่เหลืออยู่ ในเวลาเดียวกันก็ป้อนข้อมูลให้กับคอมพิวเตอร์ซึ่งมีอัลกอริธึมที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองอยู่ในตัวอยู่ด้วย

Advertisement

ซีเมียนระบุว่า หลังจากนั้นจะมีการตรวจสอบรอบต่อไปในวันที่ 14 หรือไม่ก็ในวันที่ 15 ธันวาคม และนำข้อมูลที่ได้มาผ่านกระบวนการทำนองเดียวกัน และหวังว่าจะได้อะไรเพิ่มเติมเนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว โออูมูอามูอาหมุนตัวหันอีกด้านหนึ่งเข้าหาโลก

แต่ตามผลลัพธ์ของการตรวจสอบเท่าที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ โออูมูอามูอาไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าหินอวกาศเรียวยาว ที่เดินทางอยู่ในอวกาศเท่านั้นเอง

“โออูมูอามูอา” ถูกตรวจพบเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยทีมสังเกตการณ์จากโครงการ กล้องโทรทรรศน์แพน-สตาร์ ในรัฐฮาวาย

โดยทีมที่ตรวจสอบพบตั้งชื่อให้ด้วยภาษาฮาวาย ที่หมายความว่า “ผู้ถือสาร” หรือ “แมวมอง” นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image