เผย “โออูมูอามูอา” อายุถึงหมื่นล้านปี

(ภาพ-European Southern Observatory)

คณะนักดาราศาสตร์นำโดย อลัน ฟิทซ์ซิมมอนส์ นักดาราศาสตร์จากศูนย์วิจัยทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์เบลฟาสต์ ในสังกัดมหาวิทยาลัยควีนส์ ในกรุงเบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบพบ เทหวัตถุระหว่างระบบดาวชิ้นแรก ซึ่งถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการไว้ว่า “1ไอ/2017 ยู1 โออูมูอามูอา” (1I/2017 U1 ‘Oumuamua) เผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทหวัตถุประหลาดนี้ที่ได้จากการเฝ้าสังเกตติดตามตรวจสอบมานานกว่า 2 เดือน ระบุว่า แกนของโออูมูอามูอามีลักษณะคล้ายคลึงกับเทหวัตถุทั่วไปในสุริยะจักรวาล แต่การอาบรังสีคอสมิคยาวนานตลอดอายุราว 10,000 ล้านปีทำให้เปลือกนอกของมันเปลี่ยนแปลงไป

โออูมูอามูอาถูกตรวจพบเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาขณะโคจรผ่านเข้าในพื้นที่ชั้นในของระบบสุริยะด้วยความเร็วสูงถึง 25.43 กิโลเมตรต่อวินาที มันเฉียดผ่านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะห่างเพียง 37 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนับว่าใกล้มากเพราะเทียบแล้วไม่ถึงครึ่งทางของระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวพุธ แต่ก็ยังสามารถเอาตัวรอดจากความร้อนจัดของดวงอาทิตย์ได้ ก่อนที่จะผ่านเข้ามาใกล้โลกที่ระยะห่างราว 24 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเท่ากับ 60 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์โดยประมาณ

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า โออูมูอามูอาเดินทางมาจากกลุ่มดาวพิณ (คอนสเตลเลชัน ไลรา) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 390 เมตร

ฟิทซ์ซิมมอนส์ระบุเอาไว้ในรายงานซึ่งเผยแพร่ผ่านเนเจอร์ แอสโตรโนมี ระบุว่าจากการวิเคราะห์แสงอาทิตย์ที่สะท้อนออกมาจาก

Advertisement

โออูมูอามูอา ทำให้สามารถคาดได้ว่าเทหวัตถุนี้สามารถเอาตัวรอดจากความร้อนสูงของดวงอาทิตย์ได้เพราะเปลือกนอกที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเกราะกันความร้อนให้กับส่วนแกนที่เยือกแข็งของมัน ทำให้ไม่สลายกลายเป็น

ไอและฝุ่น จนกลายเป็นหางแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับดาวหางเมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์

ทีมวิจัยทางดาราศาสตร์ของฟิทซ์ซิมมอนส์ประมาณการว่า โออูมูอามูอามีอายุมากถึง 10,000 ล้านปี ค่อยๆ สะสมเปลือกนอกของมันจนกลายเป็นเกราะหนาเมื่อเวลาผ่านไปนานเป็นหลายล้านหรือหลายพันล้านปี โดยที่บริเวณพื้นผิวของมันถูกกระหน่ำรังสีคอสมิค (อนุภาคที่มีพลังงานสูงซึ่งเดินทางฝ่าอวกาศด้วยความเร็วใกล้เคียงกับความเร็วแสง) อยู่ตลอดเวลา ในตอนแรกเริ่ม รังสีเหล่านี้ทำให้แกนที่เยือกแข็งกลายเป็นวัสดุที่แห้งสนิทและทำให้อินทรียสารที่มีอยู่ในแกนที่เยือกแข็งแต่เดิม ยึดติดกันแน่นสะสมกลายเป็นเปลือกนอกที่หนาราวครึ่งเมตรขึ้นมา

ฟิทซ์ซิมมอนส์เชื่อว่าเปลือกนอกที่แห้งแข็งเต็มไปด้วยอินทรียสารดังกล่าวนี้ทำหน้าที่ปกป้องส่วนประกอบภายในของโออูมูอามูอา ที่เต็มไปด้วยน้ำซึ่งอยู่ในสภาพเย็นจัดเป็นน้ำแข็งเหมือนองค์ประกอบของดาวหางในระบบสุริยะเมื่อเผชิญกับความร้อนสูงจากดวงอาทิตย์ขณะโคจรเฉียดผ่านเข้าไป ทำให้ไม่มีชิ้นส่วนที่หลุดออกมาเป็นหางเหมือนดาวหาง ทั้งๆ ที่อุณหภูมิบนพื้นผิวของโออูมูอามูอานั้นจะสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส

ขณะที่ทีมวิจัยทางดาราศาสตร์อีกทีม นำโดย มิเชล บานิสเตอร์ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์เช่นกัน แต่ศึกษาองค์ประกอบของโออูมูอามูอา ด้วยวิธีการต่างกันกล่าวคือใช้การศึกษาสีของมันเป็นตัวบ่งชี้ ได้เผยแพร่รายงานในวารสารวิชาการ จดหมายเหตุฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ระบุว่า สีสันบริเวณพื้นผิวของมันมีลักษณะคล้ายคลึงกับเทหวัตถุขนาดเล็กที่อยู่ในสภาพเยือกแข็งบริเวณริมขอบด้านนอกของระบบสุริยะของเรา

นั่นหมายความว่าระบบดาวเคราะห์อื่นๆ นอกเหนือจากระบบสุริยะก็มีเทหวัตถุเยือกแข็งขนาดเล็กและดาวเคราะห์น้อยเช่นเดียวกับระบบสุริยะของเราเช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image