สุดยอดภาพอวกาศแห่งปี 2017

(ESA/Hubble&NASA)

ภาพจากห้วงอวกาศช่วยให้เราทำความเข้าใจต่อสภาพความเป็นจริง ณ จุดอันไกลโพ้นได้มากกว่าคำบอกเล่ามากมาย ในเวลาเดียวกันก็กระตุ้นจินตนาการให้บรรเจิด สร้างความตื่นตาตื่นใจและความคาดหวัง ความใฝ่ฝันให้เกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน

สุดยอดของภาพถ่ายห้วงอวกาศเหล่านี้ มีทั้งที่เป็นผลงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และที่เป็นผลงานของนักดาราศาสตร์จากหอสังเกตการณ์มากมายทั่วโลก ไม่เพียงสะท้อนถึงความกว้างใหญ่ของจักรวาลที่เราใช้ชีวิตอยู่ ยังแสดงให้เราได้ตระหนักถึงความหนาแน่น จำนวนไม่รู้จบในท่ามกลางความเวิ้งว้างมหาศาลนั้น

มีบ้างบางภาพที่ต้องผ่านกระบวนการเติมสีสันหรือใช้ฟิลเตอร์กรอง เพื่อเพิ่มความชัดเจนของรายละเอียดบางอย่าง แต่ทั้งหมดล้วนเป็นภาพถ่ายจริง ไม่ใช่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์

ผู้รู้บอกว่า จักรวาลเมื่อมองออกไปจากโลก ให้ความรู้สึกอย่างหนึ่ง แต่เมื่อมองกลับลงมาจากห้วงอวกาศสู่โลก ก็เอื้อให้เกิดความรู้สึกอีกรูปแบบหนึ่ง

Advertisement

“คาร์ล ซากัน” นักเขียน นักดาราศาสตร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และนักจักรวาลวิทยาเลื่องชื่อชาวอเมริกัน บันทึกเอาไว้ใน “คอสมอส” ก่อนล่วงลับว่า

“จักรวาล เป็นเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา และจักเป็นอยู่เช่นนั้นตลอดกาล เพียงใคร่ครวญถึงแค่เล็กน้อยจักรวาลก็จะปลุกเร้าเรา เย็นวาบลงไปถึงไขสันหลัง บันดาลให้เสียงสั่นไหว เกิดความรู้สึกบางเบาวาบเข้ามาเหมือนความทรงจำแสนไกล คลับคล้ายกับความรู้สึกเมื่อร่วงหล่นลงจากที่สูง…

“นั่นเนื่องเพราะเรารู้สึกว่ากำลังมุ่งหน้าไปหาความลึกลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว”

Advertisement

ในเวลาเดียวกัน เอ็ดการ์ มิทเชลล์ อดีตนักบินอวกาศในภารกิจอพอลโล 14 ให้สัมภาษณ์ “พีเพิล แม็กกาซีน” เอาไว้เมื่อ 8 เมษายน 1974 ถึงความรู้สึกกระจ้อยร่อยของตัวเองและมนุษยชาติ จนน่าขันและชวนโมโห

“เมื่อมองมาจากดวงจันทร์ข้างนอกนั่น การเมืองระหว่างประเทศทั้งหลายช่างน่าสังเวชนัก คุณจะนึกอยากคว้าคอนักการเมืองสักคน ลากออกมาให้ห่างสักล้านไมล์ แล้วสำทับว่า ‘ดูสิ…ดู ไอ้ชิ-หา-เอ้ย'”

ทะเลาะกันอยู่นั่นแหละ ฆ่าฟันกันอยู่ได้ ไม่รู้หรือว่าตัวเองกระจ้อยร่อยเพียงใด!

1.

(ESA/Hubble&NASA)

ภาพนี้เป็นผลงานของกล้องฮับเบิล สเปซ เทเลสโคป แสดงให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อดาราจักร (แกแล็กซี) 2 ดาราจักรรวมตัวเข้าด้วยกัน ณ จุดที่ห่างออกไปจากโลกของเราราว 300 ล้านปีแสง ในกลุ่มดาวปู หรือกลุ่มดาวกรกฎ แกแล็กซีใหม่ที่เป็นผลจากการรวมตัวกันดังกล่าวคือ NGC 2623 (หรือ Arp 243) ส่วนหางที่ตวัดออกมาทั้ง 2 ด้านนั้น อยู่ห่างราว 50,000 ปีแสงจากบริเวณนิวเคลียส หรือใจกลางแกแล็กซีใหม่ (ภาพ-ESA/Hubble&NASA)

2.


ภาพน่าทึ่งภาพนี้คือส่วนที่หลงเหลืออยู่หลังการเกิดซุปเปอร์โนวา ถูกเรียกขานว่า “แคสซิโอเปีย เอ” (Cassiopeia A) อยู่ห่างจากโลกเราออกไปราว 11,000 ปีแสง ภายในกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย (มีบางคนเรียกกลุ่มดาวค้างคาว) ตัวซากซุปเปอร์โนวามีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 10 ปีแสง บริเวณริมขอบที่กำลังขยายออกนั้น ว่ากันว่าอุณหภูมิสูงถึง 50 ล้านองศาฟาเรนไฮต์ อัตราในการขยายเร็วถึง 4,000-6,000 กิโลเมตรต่อวินาที (ภาพ-NASA/CXC/SAO)

3.

ภาพนี้ถ่ายโดยกล้อง “เอ็กซ์เอ็มเอ็ม-นิวตัน” ขององค์การอวกาศแห่งยุโรป (อีเอสเอ) ซึ่งเป็นกล้องรังสีเอ็กซ์ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่เคยส่งขึ้นสู่อวกาศ แสดงให้เห็นดาวฤกษ์ขนาดใหญ่กำลังก่อกำเนิดขึ้น ท่ามกลางการไหลเวียนของวัสดุและกระแสก๊าซ นักดาราศาสตร์ประเมินว่าดาวฤกษ์ดวงนี้มีมวลมากกว่ามวลของดวงอาทิตย์เราถึง 25 เท่าตัว (ภาพ-ESA/XMM-Newton, J. Toal?&D. Goldman)

4.

ภาพพื้นผิวบริเวณขั้วใต้ของดาวอังคารที่ดูแปลกตาเหมือนภาพจากจินตนาการ ยานสำรวจจากวงโคจร มาร์ส รีคอนเนสแซนซ์ ออร์บิทเตอร์ ถ่ายภาพนี้ไว้ในช่วงปลายหน้าร้อนของดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ ส่วนที่เห็นเป็นเหมือนครีมราดขนมปังนั้นคือคาร์บอนไดออกไซด์เยือกแข็ง ส่วนบนขวาของภาพคือหลุมลึกที่คาดว่าอาจเกิดจากการปะทะของอุกกาบาต หรือไม่ก็เกิดจากการยุบตัวของพื้นผิว (ภาพ- NASA/JPL-Caltech/Univ. of Arizona)

5.


ภาพเนบิวลาอินทรี หรือเอ็ม 16 เนบิวลา (หรือ NGC 6611) ภาพนี้ถ่ายโดยโจนาธาน ดูแรนด์ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ ทีเอส 130/910 ให้รายละเอียดของเนบิวลาที่เป็นที่รู้จักกันดีนี้ได้ดีเป็นพิเศษ เนื่องจากเปิดเลนส์รับแสงค้างไว้ต่อเนื่องถึง 33 ชั่วโมง เนบิวลาอินทรีหรืออีเกิลเนบิวลาอยู่ในกลุ่มดาวเซอร์เพนส์ (กลุ่มดาวงู) ถือเป็นแหล่งก่อตัวของดาวฤกษ์ใหม่ อยู่ห่างออกไปจากโลกราว 7,000 ปีแสง (ภาพ-Jonathan Durand)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image