ใช้ ‘กล้องไฮเทค’ ถอดรหัสมัมมี่อียิปต์

ในยุคอียิปต์โบราณ ไม่เพียงชนชั้นปกครองเท่านั้นที่นิยมนำศพของกษัตริย์ หรือเชื้อพระวงศ์มาอาบน้ำยาแล้วพันด้วยผ้าเพื่อให้เป็นมัมมี่ ชนชั้นล่างที่เป็นราษฎรทั่วไปก็นิยมทำเช่นเดียวกัน กระบวนการทำก็คล้ายคลึงกัน คือนำศพมาอาบน้ำยา จากนั้น ก็ใช้ผ้าทอเป็นแถบพันจนทั่ว ลำดับถัดมาจึงจะปิดทับอีกชั้นหรือหลายชั้นด้วยวัสดุที่จะเป็นผ้าหรือกระดาษ (แบบเดียวกับที่เราทำเปเปอร์มาเช) ขึ้นอยู่กับระดับความมั่งคั่ง ตรงนี้เองที่แตกต่างกันออกไป เพราะราษฎรทั่วไป หรือคนที่ไม่ได้เป็นชนชั้นนำของอียิปต์ มักนำเอากระดาษปาปิรัส ที่ใช้แล้วมารีไซเคิลกับศพ

เรื่องราวที่เรารับรู้เกี่ยวกับอียิปต์ที่ผ่านมา มักเป็นของบรรดากษัตริย์และเจ้านายทั้งหลายเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากสิ่งที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน มักเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชนชั้นสูงในวัฒนธรรมอียิปต์แทบทั้งสิ้น กระดาษใช้แล้วที่ใช้ปิดทับผ้าห่อศพมัมมี่จึงมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ ในฐานะเครื่องสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของสามัญชนในยุคอียิปต์โบราณ

ที่ผ่านมามีความพยายามในการถอดข้อความที่อยู่ในกระดาษปาปิรัสรีไซเคิลนี้ในหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่มักก่อให้เกิดความเสียหายกับมัมมี่ หรือในบางกรณีก็เกิดความเสียหายกับกระดาษล้ำค่าเหล่านี้ด้วยซ้ำไป เท่าที่ถอดความออกมาได้ กระดาษเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่า มันเคยถูกใช้งานโดยผู้คนในยุคนั้นเพื่อจดรายชื่อสิ่งของที่ต้องซื้อหา, รายการเสียภาษี, บันทึกสั้นๆ ทางการเมือง และผลที่ได้จากการสำรวจที่ดิน เป็นต้น

แต่สิ่งที่บรรดานักวิทยาศาสตร์พยายามกันต่อ ก็คือหาหนทางอ่านข้อความในแผ่นกระดาษปาปิรัสใช้แล้วเหล่านั้นให้ได้โดยไม่จำเป็นต้องทำลายมัมมี่ ทีมวิจัยที่ประกอบด้วย อดัม กิบสัน ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์เวชกรรม จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (ยูซีแอล), เมลิสสา เทอร์ราส ศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำศูนย์ ดิจิทัล ฮิวแมนนิตีส์ ของยูซีแอล, แคทริน ปิเควทท์ และ เซรีส โจนส์ สองนักวิจัยของยูซีแอล ประสบความสำเร็จในการใช้กล้องไฮเทคเพื่อถ่ายภาพเก็บข้อความจากกระดาษปาปิรัสใช้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องทำลายทั้งมัมมี่และกระดาษแต่อย่างใด

Advertisement

ศาสตราจารย์กิบสันระบุว่า กล้องทันสมัยดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงมากในการตรวจจับร่องรอยของการเขียนโดยใช้หมึกซึ่งประกอบด้วยเม็ดสี (พิกเมนต์) ที่นักวิชาการเรียกว่า “อียิปต์บลู” กับหมึกอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของเหล็กได้ โดยอาศัยหลักการตรวจจับการสะท้อนแสงที่มีความยาวคลื่น (เวฟเลนท์) ที่แตกต่างกันของสีที่แตกต่างกัน

กล้องดังกล่าวซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “มัลติสเปกทรัล อิเมจจิ้ง ซิสเต็ม” ซึ่งแตกต่างจากกล้องปกติทั่วไปที่ตรวจจับการสะท้อนแสงได้เพียง 3 ความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน (แดง, เขียว และน้ำเงิน) แต่ระบบกล้องไฮเทคนี้สามารถตรวจจับความยาวคลื่นที่ได้จากการสะท้อนแสงของสีย้อมหรือหมึกที่แตกต่างกันออกไปได้ถึง 12 ความยาวคลื่น ตั้งแต่ 370 เรื่อยไปจนถึง 940 นาโนเมตร คือตั้งแต่แถบแสงอัลตราไวโอเลต ไปจนถึงอินฟราเรด (แสงที่เราเห็นได้ด้วยตามีความยาวคลื่นระหว่าง 390 จนถึง 700 นาโนเมตร) นอกจากนั้น สีที่ใช้ในการเขียนบางส่วนยังเรืองแสงได้เมื่อถูกฉายด้วยแสงบางอย่าง เช่น หากใช้แสงสีน้ำเงินฉายลงไปจะเรืองแสงออกให้เป็นสีเขียว หรือแดง ให้ตรวจจับได้เป็นต้น

ผลลัพธ์ที่ได้จากการนี้ แสดงให้เห็นว่า กระดาษปาปิรัสใช้แล้ว หลายชิ้นที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ 2,500 ปีเรื่อยมาจนถึงราว 1,800 ปี มีข้อความเขียนโดยอักขระ”เดโมติค” ซึ่งใช้เป็นภาษาเขียนในยุคนั้น โดยมากมักใช้ในเอกสารที่บันทึกข้อความทางธุรกิจหรือวรรณกรรม

Advertisement

ปัญหาที่หลงเหลืออยู่ของทีมวิจัยในเวลานี้ ก็คือ หาผู้เชี่ยวชาญที่สามารถอ่านภาษาเดโมติค เพื่อถอดความข้อความเหล่านี้ออกมาให้ได้เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image