เครื่องหา “สิ่งมีชีวิต” ผ่านทดสอบ เตรียมใช้ “บนดาวอังคาร”

(ภาพ-Jackie Goordial)

ชุดอุปกรณ์สำหรับค้นหาและวิเคราะห์พันธุกรรมสิ่งมีชีวิตของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม็คกิลล์ ในนครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้งานบนพื้นโลก โดยสามารถค้นหาสิ่งมีชีวิตจากบ่อน้ำพุเกลือ ในพื้นที่ใกล้อาร์กติกของแคนาดาที่เรียกว่า แคนาดาเดียน ไฮ อาร์กติกŽ ซึ่งอยู่ห่างจากขั้วโลกเหนือเพียง 900 กิโลเมตร ได้เป็นผลสำเร็จ ทีมงานเตรียมพัฒนาต่อก่อนนำไปใช้ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารหรือในมหาสมุทรใต้ผิวเยือกแข็งของ ยูโรปาŽ ต่อไป

ทีมวิจัยซึ่งนำโดย ฌาคเกอลีน กัวร์ไดออลนักวิจัยประจำห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทางทะเลบิเกลโลว์ ในรัฐเมน สหรัฐอเมริกา ซึ่งบุกเบิกงานวิจัยดังกล่าวไว้ตั้งแต่ขณะยังทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม็คกิล ระบุว่า การค้นหาสิ่งมีชีวิตเป็นจุดมุ่งเน้นหลักจุดหนึ่งในการสำรวจดาวเคราะห์ต่างๆ แต่นับตั้งแต่มีการติดตั้งอุปกรณ์ค้นหาสิ่งมีชีวิตโดยตรงไว้บนยานไวกิ้งในภารกิจสำรวจดาวอังคารในยุคทศวรรษ 70 แล้ว ยังไม่มีการติดตั้งเครื่องมือสำหรับการค้นหาสิ่งมีชีวิตโดยตรงไปกับยานสำรวจในภารกิจหนึ่งภารกิจใดอีกเลย

การทดลองครั้งนี้มีขึ้นเพื่อพิสูจน์แนวคิดของทีมวิจัยที่ว่า สิ่งมีชีวิตระดับจุลชีพนั้นสามารถตรวจหาโดยตรงได้ พร้อมๆ กับการบ่งชี้เชิงพันธุกรรมในคราวเดียวกัน และชุดอุปกรณ์ที่ใช้ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตดังกล่าวนั้นสามารถเป็นเครื่องมือที่เคลื่อนย้ายไปมาได้ง่าย น้ำหนักเบาและใช้พลังงานต่ำได้อีกด้วย

ชุดอุปกรณ์ของกัวร์ไดออลประกอบด้วยเครื่องจำแนกดีเอ็นเอย่อส่วน, พร้อมกับชุดอุปกรณ์สำหรับเพาะเลี้ยงและตรวจหาจุลชีพ ทีมวิจัยนำชุดอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ไปยังจุดทดสอบบนเกาะแอกเซล ไฮเบิร์ก ซึ่งอยู่ห่างจากขั้วโลกเหนือเพียง 900 กิโลเมตร ซึ่งมีสภาวะแวดล้อมหนาวเย็นและแห้ง คล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อมบนดาวอังคาร พบว่าชุดอุปกรณ์เหล่านี้ทำงานได้ดีมาก สามารถจำแนกชนิดและเพาะเลี้ยงจุลชีพที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ทดลอง พร้อมกันนั้นก็จำแนกพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กดังกล่าวนี้พร้อมกันไปด้วย

Advertisement

กัวร์ไดออลระบุว่า ชุดอุปกรณ์ของตนสามารถค้นหาจนพบสิ่งมีชีวิตที่มีชีวิตอยู่ในจุดที่ตรวจสอบเป็นลำดับแรก จากนั้นก็บ่งชี้ชนิดของสิ่งมีชีวิต นั้นๆ แล้วจึงวิเคราะห์ข้อมูลของศักยภาพในเชิงพันธุกรรม เพื่อทำความเข้าใจว่ายีนต่างๆ ที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมีทำหน้าที่อะไรบ้าง

กระบวนการของชุดอุปกรณ์ดังกล่าวแตกต่างอยู่เล็กน้อยจากชุดอุปกรณ์เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันที่จะนำขึ้นกับภารกิจค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารในอีก 2 ปีข้างหน้า คือ ภารกิจ มาร์ส 2020 โรเวอร์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา กับภารกิจ เอ็กโซมาร์ส โรเวอร์ ขององค์การอวกาศแห่งยุโรป อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยอมรับว่าจำเป็นต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อยในการปรับแต่งให้ชุดอุปกรณ์ที่ผ่านการทดสอบนี้เหมาะสมกับการส่งขึ้นไปกับยานอวกาศเพื่อสำรวจหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร หรือบนยูโรปา ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีต่อไป

ไลล์ ไวท์ หนึ่งในทีมวิจัยชี้ว่า ในการทดลองครั้งนี้ทีมงานใช้คนเป็นผู้ดำเนินการเป็นส่วนใหญ่ในขณะที่ในภารกิจจริงๆ บนดาวเคราะห์ดวงอื่น จำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์เพื่อทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการแทนคน นอ/กจากนั้นกระบวนการจำแนกดีเอ็นเอ ยังจำเป็นต้องพัฒนาให้แม่นยำมากกว่านี้ และมีความทนทานมากพอที่จะทำงานได้ในช่วงระยะเวลานานสำหรับการสำรวจบนดาวเคราะห์อื่นๆ

แต่อุปกรณ์แบบเดียวกันนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์บนโลกได้อีกด้วย เช่นใช้ช่วยเหลือแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในการจำแนกเชื้อให้ได้อย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดของโรคเป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image