เตือนวัยรุ่น ‘ติดมือถือ’ เสี่ยง ‘ซึมเศร้า-ไร้สุข-ฆ่าตัว’

ผลการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย ซานดิเอโก สเตท เมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อนำมาพิเคราะห์รวมกับผลงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ทำให้เกิดผลที่น่ากังวลไม่เพียงเฉพาะในสหรัฐอเมริกา หากแต่ยังรวมถึงวัยรุ่นทั้งหลายที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือกันชนิดติดหนึบในแทบทุกประเทศทั่วโลก

ในงานวิจัยล่าสุด ทีมวิจัยภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ยีน เอ็ม. เทวนจ์ อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย ซานดิเอโก สเตท ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ดำเนินการศึกษาวิจัยโดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 1 ล้านคน ที่เป็นเด็กนักเรียนระดับเกรด 8, เกรด 10 และ เกรด 12 ทั่วสหรัฐอเมริกา ได้ผลสรุปว่า วัยรุ่นซึ่งใช้เวลากับโซเชียลมีเดีย, เกม, การแชต และ วิดีโอแชต ผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนของตัวเอง ตกอยู่ในสภาพที่มีความสุขน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งใช้เวลาอยู่นอกสถานที่ เล่นกีฬาและมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์จริงๆ

ศาสตราจารย์ทเวนจ์ ซึ่งศึกษาวิจัยพฤติกรรมเด็กวัยรุ่นมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 แม้ข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นนี้ยังคลุมเครือ เพราะไม่ได้บ่งชี้ถึงสาเหตุว่า เป็นเพราะเด็กวัยรุ่นต้องการหลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริง จึงไม่มีความสุข หรือเป็นเพราะการใช้สมาร์ทโฟนทำให้ไม่มีความสุขกันแน่ แต่ศาสตราจารย์เทวนจ์เชื่อว่า สาเหตุของการไม่มีความสุขเป็นเพราะการใช้โซเชียลมีเดียบนสมาร์ทโฟน ไม่ใช่เพราะเด็กไม่เป็นสุขอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากผลการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ บ่งชี้ไว้เช่นนั้น

“งานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่ายิ่งเด็กวัยรุ่นใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นเท่าใด ยิ่งไม่มีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่การไม่มีความสุข ไม่ได้ทำให้เด็กใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นแต่อย่างใด”

Advertisement

อาการไร้ความสุขดังกล่าวดูเหมือนเป็นที่คาดหมายของผู้ปกครองทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ ของสำนักงานเพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของศาสตราจารย์เทวนจ์ เช่นเดียวกัน พบว่าการเกิดภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในเด็กวัยรุ่นหญิง เพิ่มขึ้นตามอัตราส่วนการเพิ่มของระยะเวลาที่เด็กวัยรุ่นหญิงแต่ละรายใช้งานสมาร์ทโฟน

ข้อมูลที่ทำให้กรณีดังกล่าวน่าวิตกมากขึ้นก็คือ ยิ่งนับวันระดับอายุของของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในสหรัฐอเมริกายิ่งลดต่ำลงมาเรื่อยๆ ในปี 2012 อยู่ที่ 12 ปี พอถึงปี 2016 ลดลงมาเหลือเพียง 10.3 ปี

ศาสตราจารย์เทวนจ์ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นนักวิชาการระดับแนวหน้าของการศึกษาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและภาวะอารมณ์ในวัยทีนเอจ ระบุว่า พฤติกรรมและภาวะอารมณ์ของวัยรุ่นอเมริกันเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในปี 2012 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เด็กวัยรุ่นอายุน้องลงเรื่อยๆ เริ่มใช้สมาร์ทโฟนนานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มอย่างเดียวกันนั้นปรากฏในการศึกษาครั้งใหม่นี้ด้วย โดยทีมวิจัยพบว่า นับตั้งแต่ปี 2012 เรื่อยมา ความสุข, ความภาคภูมิใจในตัวเอง, ความพึงพอใจในชีวิตของวัยรุ่นอเมริกันลดลงอย่างฮวบฮาบ

ศาสตราจารย์เทวนจ์เปิดเผยไว้ด้วยว่า ในงานวิจัยก่อนหน้านี้ของตน แสดงให้เห็นว่าเด็กวัยรุ่นที่ใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมงต่อวัน จะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้นถึง 71 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเพื่อดูเนื้อหาอะไรก็ตาม แต่การใช้สมาร์ทโฟนส่งผลให้กิจกรรมทางสังคมด้วยตัวตนจริงลดลงและเวลานอนลดลง ซึ่งกระทบต่อความสุขและก่อความเสี่ยงในทางลบมากขึ้น

ข้อเสนอแนะของนักจิตวิทยาผู้นี้ก็คือ วัยรุ่นควรใช้งานสมาร์ทโฟนของตนไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง, ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น และพยายามพบปะ ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนๆ ด้วยตัวตนจริงๆ ให้มากขึ้นนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image