‘ดิจิทัลไลเซชั่น’ กับ ‘แรงงาน’ คำเตือนจากเยอรมนี

(ภาพ-Andy Kelly/Unsplash

สมาคมผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งเยอรมนี (บิทคอม) เผยแพร่รายงานของสมาคมออกมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื้อหาที่เป็นผลจากการศึกษาวิจัยเรื่อง “ดิจิทัลไลเซชั่น” ของนักวิชาการภายใต้การสนับสนุนของสมาคมน่าสนใจอย่างยิ่ง และก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันขึ้นไม่น้อยในเยอรมนี

ที่บอกว่าน่าสนใจเพราะคำนี้ถูกนำมาใช้ในเมืองไทยถี่ยิบไม่น้อยในระยะหลังมานี้ “บิทคอม” นำเอาผลการศึกษาชิ้นดังกล่าวมาเผยแพร่เพื่อตอกย้ำถึงความกังวลต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเยอรมนีอย่างการ “ดิจิทัลไลเซชั่น” ว่าก่อผลกระทบให้กับสังคมโดยเฉพาะในส่วนของตลาดแรงงานสูงมากกว่าที่คิด

“ดิจิทัลไลเซชั่น” คือการเปลี่ยนกระบวนการการทำงาน จากคนเป็นเครื่องจักร ควบคุมด้วยโปแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีระบบการเรียนรู้สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดให้กับระบบการผลิต เพิ่มความเร็วในการผลิต แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ด้วย

โรงงานผลิตใหญ่ๆ ทั้งหลายกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตด้วยแรงงานคน เป็นการใช้หุ่นยนต์และอัลกอริธึม ปัญญาประดิษฐ์ (อาร์ทิฟิเชียล อินเทลลิเจนซ์-เอไอ) เข้าไปแทรกในกระบวนการผลิตมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

สิ่งที่บิทคอมค้นพบจากงานวิจัยครั้งนี้ก็คือ เมื่อถึงปี 2023 หรือในช่วงแค่อีก 5 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์และเอไอ จะทำให้คนเยอรมันต้องตกงานถึง 3.4 ล้านคน เพราะถูกแทนที่ในตำแหน่งงานดังกล่าวด้วยเครื่องจักรและโปแกรมดิจิทัล ที่สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ

รายงานการศึกษาชิ้นนี้ยัง “ทำนาย” โดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการจากการศึกษาวิจัย บริษัทธุรกิจของเยอรมนี ที่โดยนิยามแล้วหมายถึงบริษัทที่มีพนักงานประจำอยู่ตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป 1 ในทุกๆ 4 บริษัท จะล้มหายตายจากไป ด้วยเหตุที่ไม่สามารถแข่งขันได้ในกระบวนการดิจิทัลไลเซชั่น

อาคิม เบิร์ก นายกสมาคมบิทคอม หยิบยกอุตสาหกรรมโทรคมนาคมขึ้นมาให้เห็นเป็นกรณีตัวอย่าง เพราะภาคธุรกิจ “เทลโค” นี้ได้ชื่อว่าเป็นภาคส่วนแรกสุดที่จำต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็น “ดิจิทัล”

เบิร์กชี้ว่า ในช่วงทศวรรษ 1990 เทลโคเป็นภาคธุรกิจที่ก่อให้เกิดการจ้างงานสูงถึง 2 แสนคน แต่ทุกวันนี้มีพนักงานที่เป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่เพียงแค่ 2 หมื่นคน เท่านั้น

“นั่นคือการสูญเสียตำแหน่งงานไป 90 เปอร์เซ็นต์เต็มในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 15 ปีในภาคธุรกิจนี้” เบิร์กชี้ พร้อมทั้งเสริมด้วยว่า ภาคธุรกิจลำดับต่อๆ ไป ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัล ก็คือ ธนาคารและการประกันภัย ต่อด้วยบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางด้านเคมีและเวชภัณฑ์

เขายกตัวอย่างให้เห็นว่า ต่อไปคนที่ทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษาด้านภาษี” ไม่มีวันทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพเท่าและตรงไปตรงมาเท่ากับอัลกอริธึมที่มีความอัจฉริยะมากขึ้นทุกวัน ในขณะที่หมอฟันหรือทันตแพทย์ก็ไม่จำเป็นต้องลงมือพิมพ์แบบฟันปลอมด้วยตัวเองอีกต่อไป เนื่องจากระบบสแกนและเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สามารถทำแทนที่ได้ดีกว่า แม่นยำกว่า

รายงานของบิทคอมคาดการณ์ว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า ตำแหน่งงานที่เคยมีอยู่ในเวลานี้จะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เพราะ “ล้าสมัย” ไปแล้ว

ทันทีที่รายงานชิ้นนี้เผยแพร่ออกมาก็มีผู้ออกมาตอบโต้ทันควัน สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเยอรมัน (ดีไอเอชเค) บอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ถกกันมาไม่น้อยในอดีต ว่าด้วยการที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ยุคสมัยใหม่ๆ กลายเป็นภัยคุกคามต่อตลาดแรงงาน โดยย้ำว่า ที่ผ่านมาเทคโนโลยีใหม่ก็ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ และตำแหน่งงานใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการหรือควบคุมจักรกลใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้

รายงานของบิทคอมจึงถูกดีไอเอชเคเรียกว่าเป็นรายงานแบบ “กระต่ายตื่นตูม” เสียมากกว่า

มาร์ติน แวนสเลเบน ประธานดีไอเอชเค บอกว่า เยอรมนีไม่ได้เกิดภาวะ “ตำแหน่งงานลดลง” แต่ที่ขาดแคลนจริงๆ ก็คือ “แรงงานคุณภาพระดับสูง” ที่สามารถเรียนรู้โมเดลธุรกิจใหม่ๆ และยังคงศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวให้ทันกับกาลเวลาและยุคสมัย

สมาคมวิศวกรรมเครื่องกลแห่งเยอรมัน (วีดีเอ็มเอ) ก็ออกมาให้ความเห็นไปในทิศทางคล้ายๆ กัน ด้วยการระบุว่า ดิจิทัลไลเซชั่นเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และโดยข้อเท็จจริงแล้ว กระบวนการดังกล่าวนี้ก็ “เปรียบเสมือนเครื่องจักรสร้างตำแหน่งงาน” ของประเทศพร้อมกันไปด้วย ตำแหน่งงานจำนวนมากกว่าเดิมจะเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการนี้ด้วยซ้ำไป

ประเด็นที่น่าสนใจจึงอยู่ตรงที่ “การปรับตัว” ของแรงงาน เพื่อให้สอดรับกับภาวการณ์ใหม่ๆ ของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล

รู้ก่อน ปรับตัวก่อน ทุกอย่างก็สามารถเป็นไปได้ แต่ถ้ายังหลับหูหลับตาก็จะล้าหลังไปพร้อมกับกาลเวลาที่ผ่านไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image