สู้กับโรคติดเทคโนโลยี

The campaign, Truth About Tech, will put pressure on the tech industry to make its products less intrusive and less addictive. (PRNewsfoto/Common Sense)

เดี๋ยวนี้หันไปทางไหน ใครๆ ก็เล่นแต่มือถือ จะที่บ้าน หรือบนรถโดยสาร หรือจะในห้าง ที่ไหนก็มีแต่คนก้มหน้าก้มตาดูสมาร์ทโฟนของตัวเอง สนใจเรื่องคนบนหน้าจอ มากกว่าคนรอบข้าง

บางคนก็เรียก “โรคติดมือถือ” บางคนก็เรียก “โรคติดเทคโนโลยี”

เป็นเรื่องที่ยากจะแก้ได้จริงๆ เพราะคุณพี่เองก็ติด

ตอนนี้ก็มีกลุ่มบุคคลหวังดีซึ่งเป็นอดีตพนักงานของบริษัทกูเกิล และเป็นอดีตพนักงานของบริษัทเฟซบุ๊ก ที่เรียกได้ว่าเป็นสองบริษัทยักษ์ใหญ่ในแวดวงไอทีและโซเชียลมีเดีย ที่หันมาจับมือกันผลักดันให้บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ หันมาใส่ใจในเรื่องผลกระทบอันเกิดจากการติดเทคโนโลยีกันมากขึ้น

Advertisement

ภายใต้องค์กรที่เรียกว่า “ศูนย์เทคโนโลยีมนุษย์” ที่มีเป้าหมายเพื่อแก้วิกฤตเรื่องความสนใจดิจิทัล และจัดระเบียบใหม่ด้านเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับมนุษย์

ที่มีคำเตือนที่น่าคิดว่า “เทคโนโลยีในปัจจุบันกำลังขโมย ‘จิตใจและสังคม’ ของมนุษย์ไป”

ฟังดูเหมือนยาก แต่จริงๆ ก็คือกำลังจะบอกว่า การใช้เวลาไปกับเทคโนโลยี ทำให้คุณขาดสังคมไปนั่นเอง

Advertisement

โดยมี 2 ผู้กล้าที่เป็นแกนนำลุกขึ้นมาต่อสู้กับการติดเทคโนโลยีครั้งนี้ คือ นายโรเจอร์ แมคนามี อดีตพนักงานของเฟซบุ๊ก และทริสแทน ฮาร์ริส อดีตพนักงานของกูเกิล ที่ได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 222 ล้านบาท จากกลุ่มคอมมอน เซนซ์ มีเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไร ร่วมกันจัดทำโครงการที่เรียกว่า “ความจริงเกี่ยวกับเทค” ขึ้นมา

ซึ่งบนเว็บไซต์ของโครงการนี้ระบุไว้ว่า สแนปแชต อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และยูทูบ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ “เป็นกลาง” หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ออกแบบมาเพื่อทำให้เรา “ติด”

โดยโครงการนี้เจาะกลุ่มไปที่โรงเรียนรัฐบาล 55,000 แห่งในสหรัฐอเมริกา มุ่งเน้นไปที่การสอนนักเรียน ผู้ปกครองและครู เกี่ยวกับผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไป

นอกจากนี้ ก็ยังพยายามเข้าไปผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีด้วย และยังเข้าถึงชุมชนเทคโนโลยีทั้งหลาย สอนให้คนไอทีรู้ว่าจะออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม รวมถึงกดดันให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีทำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำให้คนติดมากจนเกินไป

ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่น่าชื่นชม สำหรับโครงการดีๆ ที่เล็งเห็นถึงผลกระทบจากการติดเทคโนโลยีที่มากเกินไป และเป็นโครงการที่รับผิดชอบต่อสังคม ไม่อยากให้ผู้คนเสียเวลากับเทคโนโลยีโดยเปล่าประโยชน์ และควรหันมาใส่ใจกับสังคมรอบข้างให้มากขึ้น เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหากันได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องเวลาพิสูจน์กันไป

ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อน ที่เขาบอกว่าไม่ได้แอนตี้เทคโนโลยี เพียงแค่หวังดีต่อสังคม

ว่าแล้ว ก็เงยหน้าจากมือถือ แล้วหันไปคุยกับคนข้างๆ กันบ้างนะจ๊ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image