เพาะเลี้ยง “ไข่มนุษย์” สำเร็จครั้งแรกของโลก

REUTERS

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ประเทศอังกฤษ ประสบความสำเร็จสามารถเพาะเลี้ยงไข่อ่อนของมนุษย์ให้เติบโตสมบูรณ์พร้อมรับการผสมในห้องปฏิบัติการทดลองได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก เปิดทางให้สามารถศึกษา ทำความเข้าใจขั้นตอนพัฒนาการของไข่อ่อนของคนเรา ซึ่งยังคงเป็นเรื่องลึกลับในทางวิทยาศาสตร์ได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็เปิดทางช่วยให้ผู้ป่วยเป็นมะเร็งสามารถกลับมามีลูกได้อีกหลังผ่านการบำบัดอีกด้วย

โดยธรรมชาติแล้วไข่อ่อนของมนุษย์เพศหญิงติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิดภายในรังไข่ อย่างไรก็ตาม กว่าจะพัฒนาสมบูรณ์พร้อมได้ก็ต้องรอถึงวัยหนุ่มสาว กระบวนการพัฒนาดังกล่าวใช้เวลานับสิบปี การที่สามารถเพาะเลี้ยงไข่อ่อนจนพัฒนาสมบูรณ์ได้ในห้องทดลองจึงเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ อย่างไรก็ตาม กระบวนการเพาะเลี้ยงดังกล่าวจำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังในสภาวะห้องทดลองที่อยู่ภายใต้การควบคุมละเอียดยิบ รวมทั้งการควบคุมระดับออกซิเจน, ระดับฮอร์โมน, ระดับโปรตีนที่ใช้จำลองการเติบโต และยังจำเป็นต้องมีตัวกลางที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเลี้ยงอีกด้วย

ศาสตราจารย์ เอฟลิน เทลเฟอร์ หนึ่งในทีมวิจัยดังกล่าวยอมรับว่า ถึงแม้ว่าผลการทดลองแสดงว่าวิธีการเพาะเลี้ยงในห้องทดลองนี้เป็นไปได้ แต่ยังจำเป็นต้องปรับปรุงอีกหลายด้าน ตั้งแต่ประสิทธิภาพของกระบวนการ ที่ยังถือว่ายังต่ำอยู่มาก เนื่องจากไข่อ่อนของมนุษย์ที่เพาะเลี้ยงมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เติบโตสมบูรณ์ นอกจากนั้น ไข่ที่เจริญเติบโตแล้วดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการผสม ทำให้ไม่รู้แน่ชัดว่ามีศักยภาพในการเจริญพันธุ์เช่นเดียวกับไข่อ่อนที่พัฒนาในรังไข่ของมนุษย์เองหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการยกระดับความเข้าใจพัฒนาการของไข่ของมนุษย์เรา เพราะในร่างกายมนุษย์นั้น กระบวนการพัฒนาของไข่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดและใช้เวลานานมาก บางคนไข่สุกพร้อมรับการผสมได้ในวัยรุ่น แต่บางคนต้องใช้เวลานานกว่าถึง 20 ปี

Advertisement

ในการพัฒนาในร่างกายมนุษย์นั้น ไข่อ่อนจะสูญเสียวัสดุเชิงพันธุกรรมไปราวครึ่งหนึ่งเมื่อพัฒนาสมบูรณ์พร้อมรับการผสม ไม่เช่นนั้นจะมีดีเอ็นเออยู่มากเกินไปเมื่อผสมกับสเปิร์ม ส่วนเกิน

ดังกล่าวนี้จะถูกทิ้งออกมาในรูปของเซลล์ขนาดเล็กเรียกว่า โพลาร์บอดีŽ แต่ในการเพาะเลี้ยงไข่ในห้องแล็บนั้น เซลล์โพลาร์บอดีที่เกิดขึ้นมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ซึ่งศาสตราจารย์เทลเฟอร์ยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าวิตก และจำเป็นต้องแก้ไขในการปรับปรุงกระบวนการนี้ในอนาคต

การเพาะเลี้ยงไข่อ่อนให้เติบโตสมบูรณ์ได้นอกรังไข่นั้น ช่วยให้เด็กหญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งสามารถผ่านการเยียวยาด้วยเคมีบำบัด หรือรังสีบำบัดได้โดยไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงที่จะเป็นหมันเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ป่วยสตรีที่เป็นผู้ใหญ่และมีไข่เจริญวัยเต็มที่แล้ว สามารถเลือกนำไข่ออกมาแช่แข็งไว้ก่อนเข้ารับการรักษา เพื่อนำกลับเข้าสู่รังไข่ในภายหลังได้หากต้องการมีลูกหลังบำบัดเสร็จสิ้นแล้ว แต่ผู้ป่วยที่ยังเป็นเด็กหญิงใช้กระบวนการดังกล่าวไม่ได้ เนื่องจากไข่ในเด็กยังไม่เจริญเติบโตสมบูรณ์นั่นเอง

Advertisement

การเพาะเลี้ยงไข่อ่อนให้เจริญวัยพร้อมผสมได้นอกมดลูกจึงช่วยให้เด็กหญิงที่เป็นมะเร็งสามารถมีลูกได้หลังการบำบัดมะเร็งแล้วนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image