พบวิธีใหม่รักษา “มะเร็ง” ใช้ “ภูมิคุ้มกันบำบัด”

(ภาพ-Viliman Viliman via Pixabay)

ทีมวิจัยด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา นำโดย ศ.นพ.โรนัลด์ เลวี อาจารย์วิชาวิทยามะเร็งจากสำนักการแพทย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประสบผลสำเร็จในการทดลองใช้วิธีการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ ในหนูทดลอง โดยวิธีการใหม่ที่มีลักษณะเป็นการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันนี้ สามารถรักษามะเร็งเหล่านั้นในหนูทดลองได้ถึง 97 เปอร์เซ็นต์ โดยการฉีด “วัคซีน” เข้าสู่เซลล์มะเร็งโดยตรง

แม้ว่าวัคซีนมะเร็งดังกล่าวไม่ใช่วัคซีน (เพื่อป้องกันโรค) ในนิยามที่เป็นที่เข้าใจกันทั่วไป แต่จัดเป็นวัคซีนได้ตามนิยามของ สมาคมวิทยามะเร็งเชิงคลินิกอเมริกัน ที่ระบุว่า การรักษาใดที่สามารถป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับมาเป็นใหม่และทำลายเซลล์มะเร็งซึ่งยังคงอยู่ในร่างกายได้ ถือว่าเป็น “วัคซีนมะเร็ง” ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วิธีการที่ค้นพบใหม่นี้ เข้าข่ายการบำบัดมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยเอง ที่เรียกกันว่า “อิมมูโนเธราพี” หรือ “ภูมิคุ้มกันบำบัด” โดยใช้สารประกอบ 2 อย่างผสมผสานกันฉีดเข้าไปเพื่อกระตุ้น “ทีเซลล์” ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งให้กลับมาทำงานโจมตีเซลล์มะเร็งอีกครั้ง

โดยปกติแล้ว ทีเซลล์จะมองว่าเซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ผิดปกติและจะแทรกซึมเข้าไปเพื่อกำจัดทิ้งอยู่แล้ว แต่เมื่อเซลล์มะเร็งขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ก็จะไปกดทีเซลล์ไม่ให้ทำหน้าที่ตามปกติ

Advertisement

การบำบัดแบบใหม่นี้ทำงานโดยการกระตุ้นให้ทีเซลล์ดังกล่าวกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง โดยการฉีด “วัคซีน” ที่เป็นสารผสม 2 ชนิดที่ทำหน้าที่เสริมซึ่งกันและกันในการกระตุ้นทีเซลล์ให้กลับมาทำงานใหม่ เนื่องจากทีเซลล์เหล่านี้อยู่ภายในก้อนมะเร็งอยู่แล้ว ร่างกายของผู้ป่วยจึงกำหนดให้ทีเซลล์เหล่านี้รู้จักและสามารถบ่งชี้โปรตีนชนิดที่เกิดขึ้นจากเซลล์มะเร็งเท่านั้นได้นั่นเอง

ทีมวิจัยพบว่า ภูมิคุ้มกันบำบัดด้วยวิธีนี้ ไม่เพียงรักษามะเร็งในจุดที่ฉีดวัคซีนให้โดยตรงเท่านั้น แต่ยังสามารถกำจัดมะเร็งในที่อื่นๆ ซึ่งลุกลามไปจากจุดที่เริ่มต้นการบำบัดได้อีกด้วย เนื่องจากทีเซลล์สามารถเคลื่อนย้ายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ลุกลามไปยังส่วนดังกล่าวของร่างกายได้อีกด้วย

นพ.เลวีอธิบายเพิ่มเติมว่า วิธีรักษาใหม่นี้แม้จะเป็นภูมิคุ้มกันบำบัดแบบหนึ่ง แต่ก็มีข้อดีเหนือแบบเดิมที่นิยมใช้กัน ที่เรียกว่า “คาร์ ที-เซลล์ เธราพี” (CAR T-cell therapy) ซึ่งปัจจุบันใช้ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ ตรงที่ทีมรักษาไม่จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างทีเซลล์จากร่างกายผู้ป่วยเพื่อนำมาปรับแต่งพันธุกรรมเสียใหม่ให้ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันใหม่

Advertisement

นอกจากนั้น ในการทดลองในหนูทดลองพบว่ายังสามารถรักษามะเร็งลำไส้และมะเร็งเต้านม ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม พญ.อลิซ โพลิซ ผู้อำนวยการแผนกศัลยกรรมเต้านมของสถาบันสุขภาพมะเร็งนอร์ธเวลล์ เตือนว่า วิธีใหม่นี้ยังจำเป็นต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นคนได้ แม้ว่าผลการทดลองจะน่าตื่นเต้นไม่น้อยก็ตาม แต่ที่ผ่านมาผลการทดลองในสัตว์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลทำนองเดียวกันในคนแน่ๆ แต่อย่างใด

นอกจากนั้น การทดลองใช้วิธีบำบัดใหม่นี้ในคนก็เป็นการทดลองแค่กับผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

กว่าจะทดลองให้เห็นชัดเจนว่าดีและปลอดภัยพอในการใช้บำบัดมะเร็งอื่นๆ รวมทั้งมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image