เอไอเอส ชี้แจงกรณีขอผ่อนผันการชำระค่างวดเงินประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz

เอไอเอส ชี้แจงยื่นขอพิจารณาผ่อนผันเงื่อนไขการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ไปยังคสช. มิได้เป็นการขอลดจำนวนค่าประมูลแต่อย่างใด แต่เป็นการขอความช่วยเหลือในการขยายจำนวนงวดชำระงวดสุดท้ายเท่านั้น พร้อมจ่ายดอกเบี้ยตามที่รัฐกำหนด และไม่ได้เป็นการผิดนัดชำระจนต้องคำนวนเป็นอัตราดอกเบี้ยปรับ ย้ำไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์อย่างแน่นอน แต่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินไปลงทุนเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ยังเป็นการสอดรับ และสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ จำกัด กล่าวว่า ตามที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมผู้ได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz ได้ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ขอพิจารณาผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz งวดที่ 4 ในปี 2563 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายออกไปเป็น 7 งวด และยกเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากการผ่อนผันชำระเงินดังกล่าวด้วย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ซึ่ง คสช. ได้ส่งให้ กสทช. พิจารณาเหตุผลและความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมอย่างรอบด้าน และกสทช. ได้พิจารณาเสนอกลับไปยัง คสช. ให้ขยายออกไปเพียง 5 งวด พร้อมให้ชำระดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยกลางที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ประมาณ 1.5%) นั้น นับว่าเป็นข้อเสนอมาตรการผ่อนผันที่เพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล ที่ได้รับการพิจารณามาตรการผ่อนผันการชำระเงินประมูลทีวีดิจิตอลเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 2 อุตสาหกรรมเป็นผู้ที่ได้ใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นความถี่จากกสทช. เช่นเดียวกัน จึงควรได้รับการพิจารณาในหลักการเดียวกัน

ทั้งนี้การยื่นขอพิจารณาการผ่อนผันการชำระค่างวดเงินประมูลงวดที่ 4 ทางบริษัทฯขอชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นการขอลดจำนวนเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ที่ต้องชำระให้แก่ภาครัฐแต่อย่างใด แต่เป็นการขอความช่วยเหลือเพื่อขยายจำนวนงวดชำระงวดสุดท้ายเท่านั้น และบริษัทฯพร้อมที่จะชำระดอกเบี้ยตามที่รัฐได้กำหนดขึ้น ซึ่งไม่ได้ทำให้รัฐ และประชาชนเสียประโยชน์แต่อย่างใด

ขณะเดียวกันบริษัทฯยังคงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กสทช.กำหนดไว้เดิม โดยได้มีหลักประกันธนาคารให้แก่กสทช.ครบถ้วนตามมูลค่าคลื่นที่ต้องชำระ ดังนั้น การแบ่งชำระของบริษัทฯจึงไม่ได้เป็นการผิดนัดการชำระ จนต้องคำนวนเป็นอัตราดอกเบี้ยค่าปรับ (15%) หรือทำให้รัฐเสียประโยชน์จากการผิดนัด

Advertisement

อย่างไรก็ตามหากคสช. มีข้อสรุปไม่ให้ขยายระยะเวลาการชำระค่างวดเงินประมูลคลื่นความถี่ บริษัท ฯ ก็เคารพในการตัดสินใจของ คสช. แต่หาก คสช. มีข้อสรุปให้ผ่อนผันการชำระหนี้พร้อมเงื่อนไขจ่ายดอกเบี้ยให้กับรัฐด้วยนั้น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีเงินที่สามารถนำไปขยายโครงข่าย และเพิ่มความถี่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้ยังเป็นการสอดรับ และสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image