ไขปริศนาวิธีโบราณ หาแนวสร้าง ‘พีระมิด’

(ภาพ-WIKIPEDIA)

เกล็น แดช วิศวกรอเมริกันผู้ก่อตั้งมูลนิธิเกล็น แดช เพื่อการศึกษาวิจัยโบราณคดี เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อาจค้นพบแล้วว่าชาวอียิปต์โบราณใช้วิธีการใดคำนวณตำแหน่งของพีระมิดที่ก่อสร้าง จนทำให้ได้พีระมิดเป็นแนวตรงตามแนวของเส้นทิศหลักชนิดเกือบสมบูรณ์แบบ ทั้งๆ ที่ในยุคก่อนไม่ได้มีเทคโนโลยีเหมือนเช่นในปัจจุบัน

มหาพีระมิดบนที่ราบสูงกิซาในอียิปต์ ซึ่งวัดความสูงในเวลานี้ได้ราว 138 เมตร สร้างขึ้นเมื่อราว 4,500 ปีก่อน โดยฟาโรห์ คุฟู เป็นพีระมิดที่สูงที่สุดใน 3 พีระมิดที่สร้างขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกัน ได้ชื่อว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างมหัศจรรย์ของโลกมาตั้งแต่ยุคโบราณ มีปริศนาหลายๆ อย่างที่ทำให้แม้แต่วิศวกรในปัจจุบันยังพิศวงว่าผู้คนในยุคนั้นสร้างได้อย่างไรกัน

หนึ่งในปริศนาที่ทำให้นักวิจัยขบคิดกันมานานคือ ผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้างในยุคอียิปต์โบราณทำอย่างไรถึงทำให้ยอดของพีระมิดอยู่ในแนวเดียวกับแนวตัดของเส้นทิศหลักชนิดเกือบสมบูรณ์ คือคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เกล็น แดช ซึ่งศึกษาวิจัยพีระมิดกิซามานานระบุว่า มหาพีระมิดคุฟูสร้างขึ้นตามแนวเส้นทิศหลักได้แม่นยำมาก คือมีความคลาดเคลื่อนเพียงไม่ถึง 1 ส่วนใน 15 ส่วนขององศาเท่านั้น และเมื่อตรวจสอบพีระมิดคาเฟร ที่มีมหาสฟิงซ์สร้างอยู่ใกล้กัน ซึ่งอยู่บนที่ราบสูงกิซาเช่นเดียวกัน และพีระมิดแดงในแหล่งโบราณคดีดาห์ชูร์ ก็พบว่ามีความแม่นยำกับแนวทิศหลักใกล้เคียงกัน

Advertisement

ข้อสังเกตของแดชก็คือ ความคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยของพีระมิดทั้ง 3 เป็นแบบเดียวกัน กล่าวคือ คลาดเคลื่อนไปในทางทวนเข็มนาฬิกาทั้งหมด ซึ่งทำให้แดชได้คิดว่า วิธีการที่ชาวอียิปต์โบราณใช้ในการก่อสร้างพีระมิดน่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากวันศารทวิษุวัต (ฟอลล์ อีควิน็อกซ์) ซึ่งเป็นวันที่กลางคืนและกลางวันเท่ากันพอดีในช่วงฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกตอนเหนือ ซึ่งตรงกับวันที่ 22 กันยายนนั่นเอง

เกล็น แดช ทดลองวิธีการดังกล่าวของตนในเมืองพอมเฟรต รัฐคอนเนคติกัต สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2016 ซึ่งเป็นวันศารทวิษุวัตพอดี โดยใช้แท่นไม้ปักแท่งเหล็กแล้วมาร์กจุดปลายสุดของเงาเหล็กเป็นระยะๆ ตั้งแต่อาทิตย์ขึ้นจนสิ้นสุดวัน และได้ข้อสรุปว่าจุดกำหนดตำแหน่งปลายเงาเหล็กทั้งหมดเรียงกันเป็นเส้นตรงตามแนวทิศหลักจากตะวันออกสู่ทิศตะวันตกเกือบสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน

ที่สำคัญคือความคลาดเคลื่อนจากแนวดังกล่าวเป็นการคลาดเคลื่อนเล็กน้อยในแนวทวนเข็มนาฬิกา เหมือนกับที่ปรากฏที่พีระมิดทั้ง 3 เช่นเดียวกัน

Advertisement

แดชระบุว่า วิธีการนี้ต้องการเพียงแค่วันศารทวิษุวัตที่มีแสงแดดตลอดทั้งวัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาในพื้นที่อย่างเช่นอียิปต์ และสันนิษฐานว่าชาวอียิปต์โบราณน่าจะคำนวณหาวันศารทวิษุวัตได้โดยการนับจำนวนวันต่อจากวันครีษมายัน (ซัมเมอร์ โซลสไทซ์) อันเป็นวันที่กลางวันยาวที่สุดในรอบปีในซีกโลกตอนเหนือ (ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน) 91 วันนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เกล็น แดช ยอมรับว่า แม้จะมีความเป็นไปได้สูงว่าชาวอียิปต์โบราณจะใช้วิธีการนี้ในการสร้างพีระมิด เนื่องจากง่ายและไม่ซับซ้อนเท่ากับวิธีการอื่นๆ ที่สันนิษฐานกัน แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีบันทึกหรือจารึกใดๆ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างพีระมิดในยุคนั้นตกทอดมาจนถึงขณะนี้เลย

ทำให้กรณีนี้ก็ยังคงเป็นข้อสันนิษฐานกันต่อไปเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image