จาก ‘อีคอมเมิร์ซ’ ถึง ‘โซเชียลคอมเมิร์ซ’ หรือผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อ?

(ภาพ-Pixabay)

การแพร่หลายของสมาร์ทโฟน ส่งผลให้นับวัน “โซเชียลคอมเมิร์ซ” หรือการทำธุรกิจผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ รูปแบบใหม่ของพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในไทยเราเองและในต่างประเทศ เห็นได้จากการที่กิจการ “อีคอมเมิร์ซ” สำคัญๆ ทั้งหลายเริ่มหันมาให้บริการผ่านแพลตฟอร์มนี้กันมากขึ้นตามลำดับ

ในเมืองไทย ไม่มีตัวเลขเป็นงานเป็นการให้อ้างอิงได้ แต่ในประเทศอย่างจีน โซเชียลคอมเมิร์ซ ได้รับความนิยมสูงและเติบโตอย่างพรวดพราด แม้จะเพิ่งเริ่มใช้งานกันจริงจังเพียงแค่ 2 ปีที่ผ่านมา แต่บริษัทวิจัย อี มาร์เก็ตเตอร์ เชื่อว่าในปีนี้ตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซ ของจีนน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 443.3 ล้านดอลลาร์ คิดสัดส่วนเป็น 3 ใน 4 ของการค้าปลีกออนไลน์ทั้งหมด โดยคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า คือในปี 2020 มูลค่ารวมจะถึง 150,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะมีผู้ค้าขายผ่านแพลตฟอร์มนี้มากถึง 24 ล้านราย

“พินตั่วตัว” (Pindaodao) คือโซเชียลคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของที่นั่น มีสมาชิกมากถึง 300 ล้านคน ทั้งๆ ที่ต้องจ่ายเงินเพื่อสมัครเป็นสมาชิก

“พินตั่วตัว” ขายสินค้าหลายประเภท ตั้งแค่ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน สำนักงาน เรื่อยไปจนถึงสินค้าที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่กระดาษทิชชู ไปจนถึงลิปสติก ที่น่าสนใจก็คือ สินค้าทุกอย่างจะมีส่วนลดให้ และยิ่งแชร์สินค้าตัวนั้นๆ ให้คนอื่นซื้อด้วยได้ ก็จะได้ส่วนลดเพิ่มมากขึ้น เช่นจากที่เคยลด 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากซื้อ 2 คน แต่ละคนก็จะได้สินค้าตัวนั้นในราคาลด 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

Advertisement

ยิ่งซื้อรวมกันมากขึ้นเท่าใดส่วนลดก็จะมากขึ้นตามไปเท่านั้น เป็นวิธีการด้านการตลาดที่ได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่ง นั่นคือการตลาดแบบปากต่อปาก และเป็นการนำเอาคุณสมบัติของโซเชียลมีเดียมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

“พินตั่วตัว” อาศัยประโยชน์จากเครือข่ายเพื่อนบนแพลตฟอร์ม “วีแชต” ของเท็นเซนต์ ซึ่งใช้งานกันแพร่หลายในจีน สร้างแรงจูงใจให้เกิดการซื้อเป็นกลุ่ม และช่วยในการขยายฐานผู้ซื้อออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการช่วยกันซื้อสินค้าในหมู่เพื่อนด้วยกัน

นีล หวัง ประธานบริษัทวิจัย ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวนประจำประเทศจีน ยอมรับว่ารูปแบบการโปรโมชั่นสินค้าโดยใช้เพื่อนจูงใจของ พินตั่วตัว เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของสิ่งที่นักการตลาดเรียกว่า “อินฟลูเอนซิง เอฟเฟกต์” ให้มากขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อเทียบกับช่องทางการตลาดและการโฆษณาสินค้าทั่วไป

Advertisement

ในเมืองไทย ไม่ได้มีการจัดทำแอพพลิเคชั่นเป็นงานเป็นการเหมือนเช่น “พินตั่วตัว” แต่โซเชียลคอมเมิร์ซ ทั้งหลายอิงอยู่กับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่นิยมใช้กันทั่วไป ที่นิยมกันมากที่สุดเห็นจะเป็นผ่านทาง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และทางไลน์ ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจนนักแต่ก็ใช้อิทธิพลของการบอกต่อของเพื่อนในแวดวงโซเชียลของแต่ละคนเป็นประโยชน์ และอาศัย “คนดัง” เป็นผู้สร้างอิทธิพลให้สินค้าแบบเดียวกับในจีนเช่นกัน

“เสี่ยวหงซู” โซเชียลคอมเมิร์ซรายใหญ่อีกราย หยิบเอาแบบอย่างของอเมซอนมารวมเข้ากับอินสตาแกรม แต่แทนที่จะใช้เนื้อหาของตนเพียงอย่างเดียว กลับเปิดให้ผู้ใช้สร้างคอนเทนต์และชุมชนขึ้นได้เองด้วย ทำให้กลายเป็นแหล่งชุมนุมขายสินค้าของดาราดัง และคนที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย อาทิ ฟ่าน ปิงปิง, จาง ม่านอวี้ หรือแม็กกี้ จาง, รวมทั้ง หลิน หยุ่น หรือเยลลี หลิน ที่ต่างล้วนมีแอคเคาต์อยู่ใน “เสี่ยวหงซู” ด้วยกันทั้งสิ้น

โซเชียลคอมเมิร์ซ มีข้อดีหลายอย่างนอกเหนือจากเรื่องการสร้างอิทธิพลแบบทวีคูณอย่างที่ว่าแล้ว ยังเริ่มต้นง่าย ลงทุนต่ำ ซึ่งส่งผลให้ผู้เป็นเจ้าของสินค้ารายเล็กรายน้อยก็อาศัยช่องทางนี้ได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างที่เห็นกันได้ชัดๆ ก็คือการที่ทางการออกมากระตุ้นให้ชาวนา ขายข้าวโดยตรงผ่านเฟซบุ๊กตอนราคาข้าวตกต่ำเมื่อไม่นานมานี้ เป็นต้น

แต่ไม่ว่าในไทยหรือในจีนก็ตามที ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กันของโซเชียลคอมเมิร์ซ ก็คือ ปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า ต่างกันตรงที่ในจีนมีบริษัท มีผู้รับผิดชอบให้ต่อว่าต่อขาน ส่วนในเมืองไทยมักลงเอยที่ตำรวจแทบทุกครั้งไป เพราะมีตั้งแต่การหลอกขายสินค้า เรื่อยไปจนถึงการปลอมแปลงสินค้า หรือขายสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่ถูกต้องของทางการ

กรณี “เมจิก สกิน” ที่กำลังดังอยู่ในเวลานี้ก็เข้าข่ายเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ตัวอย่างจากจีนแสดงให้เห็นว่า โซเชียลคอมเมิร์ซนั้นเติบโตได้ ขยายใหญ่โตเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าการตลาดมหาศาลได้ และควรแก่การส่งเสริม เพราะมีข้อดีอยู่มากมาย

แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ปล่อยไปตามบุญตามกรรม รอให้เกิดเป็นเรื่องขึ้นมาก่อนทุกครั้งไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image