‘มาร์ส2020โรเวอร์’ เจอปัญหา ‘ฮีทชีลด์’ ร้าว

ภาพ-NASA-JPL/Caltech

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ยานโรเวอร์สำหรับสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งกำหนดจะส่งขึ้นไปปฏิบัติการในภารกิจ “มาร์ส 2020” ในอีกราว 2 ปีข้างหน้า เจอปัญหาระหว่างการทดสอบ เมื่อทีมภารกิจพบรอยร้าวของแผงกันความร้อน หรือฮีทชีลด์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการร่อนลงจอดยังพื้นผิวดาวอังคาร และเมื่อตรวจอย่างละเอียดพบว่ารอยร้าวดังกล่าวแตกลึกลงไปถึงโครงสร้างของแผงกันความร้อนเลยทีเดียว

ตามถ้อยแถลงของนาซา ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการทดสอบประสิทธิภาพของแผงกันความร้อนภายในห้องทดลองที่เมืองเดนเวอร์ของบริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน สเปซ บริษัทในเครือล็อคฮีด มาร์ติน ที่เป็นคู่สัญญาของนาซา การทดสอบดังกล่าวกินเวลานาน 1 สัปดาห์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของแผงกันความร้อนเมื่อเผชิญกับแรงปะทะและเสียดสีที่สร้างขึ้นให้สูงกว่าราว 20 เปอร์เซ็นต์ ของแรงปะทะและการเสียดสีซึ่งจะเกิดขึ้นจริง เมื่อยานมาร์ส โรเวอร์ ร่อนผ่านชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ตามขั้นตอน เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ลดระดับลง และลงจอด ที่กำหนดไว้

ทางทีมบริหารจัดการภารกิจดังกล่าว ซึ่งเป็นคณะนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ เจ็ท โพรพัลชัน ของนาซาในเมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จะร่วมกับเจ้าหน้าที่และวิศวกรของล็อคฮีด มาร์ติน เพื่อตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ทั้งนี้ เพราะต้องการหาสาเหตุของรอยปริร้าวดังกล่าว ก่อนชี้ขาดว่าควรเปลี่ยนแปลงการออกแบบแผงกันความร้อนเสียใหม่หรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากแผงกันความร้อนหรือฮีทชีลด์ เป็นอุปกรณ์สำคัญในการคุ้มครองตัวยานสำรวจพื้นผิวหรือมาร์ส โรเวอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในภารกิจ ให้ลงสู่พื้นผิวดาวอังคารได้โดยปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ทางนาซายังคงยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะไม่ทำให้ทางนาซาต้องเลื่อนกำหนดการส่งยานสำรวจดาวอังคารตามภารกิจนี้ออกไปแต่อย่างใด ยังคงกำหนดวันส่งไว้เช่นเดิมคือในวันที่ 17 กรกฎาคม 2020 โดยทางนาซาและล็อคฮีด มาร์ติน จะซ่อมแซมแผงกันความร้อนเดิม เพื่อให้สามารถทดสอบยานดำเนินต่อไปได้ตามกำหนดเดิม โดยหากจำเป็นต้องออกแบบใหม่ ทีมภารกิจ มาร์ส 2020 คาดว่าจะพัฒนาโครงสร้างของแผงกันความร้อนใหม่ได้เสร็จภายในปี 2019 และพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ เช่นแผ่นเกราะกันความร้อนแล้วเสร็จได้ทันเวลาแน่นอน

Advertisement

ภารกิจ มาร์ส 2020 ได้รับการออกแบบจากนาซาให้เป็นปฏิบัติการสำรวจพื้นผิวของดาวอังคารเพื่อค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตระดับจุลชีพในยุคโบราณของดาวอังคารเป็นการเฉพาะ ตัว “มาร์ส โรเวอร์” ซึ่งจะส่งลงไปยังพื้นผิวดาวสีแดงดวงนี้นั้น เป็นยานหุ่นยนต์มีล้อ 8 ล้อ ติดตั้งอุปกรณ์และคอมพิวเตอร์ที่มีขีดความสามารถในการตรวจสอบและค้นหาอาณาบริเวณที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย บนดาวอังคารอยู่ด้วย

นาซาจำเป็นต้องกำหนดการส่งยานไว้ราวเดือนกรกฎาคม 2020 นั้นเพื่อให้ดาวอังคารและโลกเรียงตัวในทิศทางที่เหมาะสมต่อการเดินทางของยานสู่ดาวอังคาร

โดยยานสำรวจในภารกิจมาร์ส 2020 จะบรรลุถึงดาวเคราะห์สีแดงในราวต้นปี 2021 นั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image