‘อินไซท์ มาร์ส แลนเดอร์’ มุ่งสำรวจภายในดาวอังคาร

(ภาพ-NASA-JPL Caltech)

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการส่ง “อินไซท์ มาร์ส แลนเดอร์” ยานสำรวจดาวอังคารสู่เส้นทางในห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา และกำหนดจะใช้เวลา 205 วันหรือเกือบ 7 เดือน เดินทางเป็นระยะทาง 485 ล้านกิโลเมตร เพื่อไปร่อนลงยังที่ราบลาวา “เอลิเซียม พลานิเทีย” โดยอาศัยทั้งร่มชูชีพและจรวดทรัสเตอร์ เพื่อชะลอความเร็วให้สามารถร่อนลงสู่จุดหมายได้อย่างนุ่มนวล

กำหนดวันลงจอดพื้นผิวดาวอังคารของ “อินไซท์ มาร์ส แลนเดอร์” คือวันที่ 26 พฤศจิกายน เวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับ 03.00 น. ของวันที่ 27 พฤศจิกายนตามเวลาไทย

แต่ก่อนจะถึงวาระฝ่าบรรยากาศดาวอังคารลงจอดดังกล่าว หอควบคุมภาคพื้นดิน จะดำเนินการตรวจสอบระบบย่อยต่างๆ ของยาน ตรวจความพร้อมของอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่ติดขึ้นไปกับยาน โดยติดตามความเคลื่อนไหวของยานไปตลอดทุกระยะผ่าน “ดีพ สเปซ เน็ตเวิร์ก” ชุดเสาอากาศขนาดใหญ่ของนาซา ที่นอกจากจะช่วยให้สามารถติดตามยานได้ตลอดเส้นทางแล้ว ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่โครงการสามารถสั่งการปรับระดับและทิศทางของตัวยาน แผงโซลาร์เซลล์ และเสาอากาศ เพื่อให้ ยานอินไซท์ อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องตั้งแต่ภายใน 10 วันแรกของการเดินทาง โดยกำหนดไว้ว่าจะต้องปรับทิศทางของยานรวมทั้งสิ้น 6 ครั้งหรือน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความจำเป็น

ทั้งนี้ หากไม่ปรับตำแหน่งและทิศทางของยานให้ถูกต้องภายใน 10 วัน จะส่งผลให้ยานพลาดเป้าหมายไปจากดาวอังคารนับเป็นหลายแสนกิโลเมตรเลยทีเดียว

Advertisement

จนถึงขณะนี้ ทั้งยานอินไซท์ และยานลูกขนาดเล็กอีก 2 ลำคือ “มาร์ส คิวบ์ วัน” เอกับบี ซึ่งจะร่อนลงสู่ดาวอังคารตามหลังยานอินไซท์และทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับโลกแทนยานแม่ในช่วงเวลาดังกล่าว

“อินไซท์ มาร์ส แลนเดอร์” เป็นยานสำรวจชนิดประจำอยู่กับที่ ไม่ได้เคลื่อนที่เหมือนยานประเภทโรเวอร์ อุปกรณ์สำคัญที่ติดตั้งไว้กับตัวยานคือ ซิสโมมิเตอร์ ที่ผลิตในประเทศฝรั่งเศสสำหรับตรวจวัดการเคลื่อนที่ของเปลือกดาวอังคาร หรือตรวจจับแรงสะเทือน และสะท้อนจากการที่อุกกาบาตพุ่งลงกระแทกกับพื้นผิวดาวสีแดงดวงนี้ นอกจากนั้น ระบบสื่อสารในย่านความถี่ เอ็กซ์-แบนด์ ที่ติดตั้งไว้กับยานจะติดต่อโดยส่งข้อมูลตำแหน่งของยานกลับมายังดีพ สเปซ เน็ตเวิร์กตลอดเวลา ซึ่งทำให้สามารถตรวจจับการกระเพื่อมของวงโคจรของดาวอังคารระหว่างที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ได้ การกระเพื่อมดังกล่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับแกนของดาวอังคารรวมทั้งขนาดของแกนและองค์ประกอบของแกน ที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถประเมินแกนของดาวอังคารได้เพิ่มเติม

นอกเหนือจากข้อมูลแผ่นดินไหว, ข้อมูลเกี่ยวกับแกนของดาวอังคารแล้ว “อินไซท์ มาร์ส แลนเดอร์” ยังสามารถตรวจจับความร้อนใต้พื้นผิวดาวอังคารได้อีกด้วย โดยจะใช้อุปกรณ์ขุดลึกลงไปในพื้นผิวดาวลึกราว 5 เมตร เพื่อวัดการไหวเวียนของความร้อนใต้พิภพดาวแดง ซึ่งจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมภูเขาไฟบนดาวอังคารซึ่งยังคงเป็นความลึกลับสำหรับนักวิทยาศาสตร์อยู่ในเวลานี้

Advertisement

ดาวอังคารมีภูเขาไฟขนาดมหึมาอยู่เป็นจำนวนมากในอาณาบริเวณที่เรียกว่า “ธาร์ซิส รีเจียน” หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “โอลิมปัส มอนส์” ซึ่งทั้งใหญ่กว่าและสูงกว่าเทือกเขาเอเวอร์เรสต์ที่สูงที่สุดบนโลกอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image