จีนเดินหน้าอีกก้าว สำรวจด้านไกลของดวงจันทร์

AFP PHOTO / - / China OUT

องค์การอวกาศจีน (ซีเอสเอ) ประสบความสำเร็จก้าวสำคัญในโครงการส่งยานสำรวจพื้นผิวพร้อมยานโรเวอร์ไปสำรวจพื้นผิวด้านไกลสุดของดวงจันทร์ เมื่อสามารถส่งยานอวกาศ “เชว่เฉียว” (สะพานสาลิกา) ขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วยจรวดส่ง “ลองมาร์ช 4 ซี” จากฐานยิงภายในศูนย์จัดส่งดาวเทียม “ซือชาง” ในประเทศจีนเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา

นายจาง ลี่หัว ผู้จัดการโครงการเชว่เฉียว ระบุว่า ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำจีนไปสู่การเป็นประเทศแรกที่สามารถส่งยานสำรวจไปลงจอดอย่างนุ่มนวลและสามารถใช้ยานโรเวอร์สำรวจพื้นที่ด้านไกลของดวงจันทร์ได้ โดยเปิดเผยว่า “เชว่เฉียว” แยกตัวออกจากจรวดส่งท่อนบนสุดได้สำเร็จหลังจากถูกยิงขึ้นจากพื้นราว 25 นาที และเริ่มออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง คือ จุดลากรานจ์ พอยท์ แอล 2 ซึ่งถือเป็นจุดที่ทำให้ยานมีความเสถียรสามารถโคจรโดยรอบดวงจันทร์ได้โดยไม่ต้องเสียเชื้อเพลิง ทำให้ “เชว่เฉียว” สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางถ่ายทอดสัญญาณจากยานสำรวจพื้นผิวและยานโรเวอร์ของจีนกลับมายังโลกได้

จีนจำเป็นต้องอาศัย “เชว่เฉียว” เป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างหอบังคับการภาคพื้นดินกับยานในอนาคตที่จะไปลงในพื้นที่ด้านไกลของดวงจันทร์ดังกล่าว เพราะยานที่ไปลงยังจุดดังกล่าวไม่สามารถสื่อสารโดยตรงกับโลกได้ เพราะเป็นด้านที่หันออกจากโลกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากดวงจันทร์หมุนรอบโลกในอัตราเดียวกันกับการหมุนรอบตัวเองดวงจันทร์ ทำให้หันด้านใกล้เข้าหาโลกและหันด้านไกลออกจากโลกอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

การสื่อสารระหว่าง “เชว่เฉียว” กับยานสำรวจซึ่งจะขึ้นไปกับยานอวกาศ ฉางเอ๋อ 4 ในปลายปีนี้และกับหอควบคุมบนโลกนั้น จะใช้คลื่นความถี่ เอส-แบนด์และเอ็กซ์-แบนด์ในการสื่อสาร

Advertisement

นอกจากทำหน้าที่เป็นตัวกลางถ่ายทอดสัญญาณแล้ว “เชว่เฉียว” ยังมีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ติดขึ้นไปด้วย 2 ชิ้นคือ จานรับสัญญาณวิทยุของเนเธอร์แลนด์ ที่จะใช้ในการศึกษาคลื่นวิทยุที่ไม่สามารถใช้ในระดับบรรยากาศได้ กับอุปกรณ์สะท้อนแสงเลเซอร์ซึ่งใช้สำหรับวัดระยะห่างระหว่างโลกกับเชว่เฉียวนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image