เล็งระดมสมองทั่วโลก ถอดรหัส “มนุษย์ต่างดาว”

(ภาพ-Geralt via Pixabay)

เชอรี เวลส์-เจนเซน นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโบว์ลิงกรีน ในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสถาบัน “เมสเสจจิง เอ็กซ์ตราเทอร์เรสเทรียล อินเทลลิเจนซ์” (สถาบันเพื่อการสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว) หรือ “เมติ” องค์กรวิชาการไม่แสวงผลกำไรซึ่งมีสำนักงานอยู่ในนครซานฟรานซิสโก

รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ทางสถาบันกำลังจัดเตรียมดำเนินโครงการที่เปิดให้ทุกคนทั่วโลกสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการระดมสมองได้ ซึ่งอาจลงเอยกลายเป็นโปรเจ็กต์แบบ “ซิติเซน-ไซนซ์” หรือ “วิทยาศาสตร์พลเมือง” ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา

เป้าหมายก็คือการช่วยกันหาทาง “บ่งชี้” ถึงความหมาย (ซึ่งควรเห็นพ้องต้องกัน) ที่ “ถูกต้อง” ใน “สาร” ที่อาจได้รับจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาวในอนาคตอันใกล้

เวลส์-เจนเซน กล่าวว่า เพื่อทำความเข้าใจสาระที่สื่อสารมาถึง ทุกคนบนโลกจำเป็นต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ

Advertisement

“เราต้องการความช่วยเหลือจากทุกคน เรากำลังต้องการสร้างชุดความหมายออกมาให้มากชุดที่สุดเท่าที่จะมากได้จากสารที่เราได้รับมา”

เวลส์-เจนเซน ระบุว่า ได้แนวคิดดังกล่าวมาจากการทดลองนำเอาชุดปริศนาที่เขียนด้วยโครงสร้างภาษาที่เรียกว่า “ลินคอส” ภาษาที่ถูกออกแบบโครงสร้างมาให้สามารถเข้าใจได้โดยสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว ไปทดลองให้นักศึกษาในห้องเรียนของตนลองตีความออกมาเป็นคำพูดปกติ ตัวอย่างเช่น สมการของเส้นรอบวง กับตัวสัญลักษณ์ค่า “พาย” (ค่าคงตัว) ที่เขียนแบบเป็นรหัสอีกจำนวนหนึ่ง นักศึกษาบางคนตีความว่าหมายความว่า “โลก” บางคนระบุว่า หมายความถึง “อสงไขย” (อินฟินิตี) ถึงกับมีบางคนตีความเส้นรอบวงว่าเป็นเหมือนกำแพงและชี้ว่า รหัสทั้งหมดหมายถึง “เรือนจำ”

เวลส์-เจนเซน กล่าวว่า นั่นคือรหัสภาษาลินคอส ที่มนุษย์ด้วยกันเองเขียนขึ้นยังตีความออกไปหลากหลายถึงขนาดนั้นได้ แสดงให้เห็นว่า ชุดรหัสลินคอสที่มาจากระบบดาวอื่นที่ห่างไกล ไม่มีวัฒนธรรมร่วมและไม่มีวิวัฒนาการร่วมกันกับมนุษย์จะยากเย็นขนาดไหน ทำให้ต้องอาศัยสามัญ สำนึกที่หลากหลายที่สุดเท่าที่จะมีได้เพื่อให้เข้าใจถึงสภาวะแวดล้อมของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากที่อื่นเหล่านั้นและช่วยให้เข้าใจได้ถึงสิ่งที่สื่อสารออกมาและจะสื่อสารกลับออกไปยังสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเหล่านั้น ซึ่งบางทีอาจมีเทคโนโลยีก้าวหน้ากว่าที่เรามีอยู่ในเวลานี้มาก

Advertisement

การระดมสมองจากทุกคนทั่วโลกนอกจากจะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (คริติคอล ธิงกิง) รวมถึงการทำความเข้าใจถึงธรรมชาติ และกระบวนวิถีของธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมติจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 2 ครั้ง ว่าด้วย “ภาษาในจักรวาล” (Language in the Cosmos-LINCOS) หรือ “ลินคอส” ขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นโปรเจ็กต์ใหญ่นี้

ดัก วาคอช ประธานของเมติ เปิดเผยว่า นักภาษาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอย่าง นอม ชอมสกี แสดงความคิดเห็นไว้บ่อยครั้งว่า หากชาวดาวอังคาร (มาร์เชียน) มาเยือนโลก ชาวดาวอังคารคงคิดว่าโลกใช้ภาษาถิ่นภาษาหนึ่ง

ซึ่งมาจากโครงสร้างภาษาเดียวกันกับที่พวกตนใช้ โดยมีโครงสร้างสำคัญๆ ร่วมกันกับภาษาของมนุษย์

แต่ถ้าหากมนุษย์ต่างดาวมีภาษาเป็นของตนเองจริงๆ ความต่างหรือความคล้ายคลึงกับภาษาของมนุษย์จะมากน้อยเพียงใด ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่อยู่ในเวลานี้

นั่นคือที่มาของภาษาเชิงโครงสร้าง หรือลินคอส ที่ “อาจจะ” เป็นสื่อกลางได้

เชอรี เวลส์-เจนเซน ยอมรับว่า เธอเองยังคงไม่ปักใจเชื่อนักว่าเราจะสามารถรู้คำตอบของคำถามเหล่านี้ได้

แต่ในเวลาเดียวกัน เธอก็คิดว่า สมมุติฐานที่อยู่เบื้องหลังโปรเจ็กต์นี้เป็นเรื่อง “น่าเล่น” อย่างยิ่งเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image