มนุษย์มี “สมองที่2” ทำงานเป็นอิสระในลำไส้

ศาสตราจารย์นิค สเปนเซอร์ (ซ้าย) (ภาพ-Flinders University)

ทีมนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการทดลองทางประสาทสรีรวิทยาวิสเซอรัล ในสังกัดวิทยาลัยการแพทย์และสาธารณสุข ของมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส เซาธ์ ออสเตรเลีย ในประเทศออสเตรเลีย ภายใต้การนำของศาสตราจารย์นิค สเปนเซอร์ นักวิชาการด้านประสาทสรีรวิทยา ประสบความสำเร็จในการสังเกตการณ์รูปแบบการทำงานของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นภายในช่องท้องของคนเราได้เป็นครั้งแรก โดยอาศัยเทคนิคใหม่ในการสร้างภาพกระแสประสาท ผสมผสานกับระบบการบันทึกกระแสไฟในร่างกาย หรือ “อิเล็กโทรฟิสิโอโลจี เรคคอร์ด” ที่สามารถจับกระแสไฟในกล้ามเนื้อเรียบของคนเราได้

ระบบประสาทที่แยกเป็นอิสระจากการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง (ซีเอ็นเอส) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายคนเราทั้งหมดร่วมกับประสาทไขสันหลังดังกล่าวนั้น นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานไว้นานแล้วว่ามีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนรวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆด้วย หลังจากตรวจพบระบบประสาทอิสระที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “ระบบประสาทของลำไส้” หรือ “อีเอ็นเอส” ในหนู อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยของศาสตราจารย์สเปนเซอร์ ถือเป็นทีมแรกที่ตรวจพบรูปแบบการทำงานของระบบดังกล่าวได้สำเร็จ

“อีเอ็นเอส” ถูกเรียกว่าเป็น “สมองที่ 2” เนื่องจากมันทำงานแยกเป็นอิสระจากซีเอ็นเอสและกระดูกไขสันหลัง โดยสเปนเซอร์ยืนยันว่าจะเรียกได้ว่าลำไส้มีสมองเป็นของตัวเองก็ว่าได้ และถือเป็นอวัยวะภายในชิ้นเดียวในร่างกายมนุษย์ที่สามารถทำงานเป็นอิสระจากระบบประสาทส่วนกลาง หรือสมองที่อยู่ในหัวของคนเรา

ผลการศึกษาของสเปนเซอร์และทีมงานพบว่าในระบบทางเดินอาหารทั้งหมดของเรามีเซลล์ประสาทอยู่มหาศาลรวมแล้วหลายล้านเซลล์ ทำงานร่วมกันเหมือนตาข่ายระบบประสาทในการควบคุมความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหารทั้งหมด และติดต่อสื่อสารกับประสาทส่วนกลาง แต่ทำงานเป็นอิสระ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการสั่งการของระบบประสาทส่วนกลางแต่อย่างใด

Advertisement

เซลล์ประสาทเหล่านี้ทำงานร่วมกันโดยยิงกระแสประสาทประสานงานกันเพื่อทำให้กล้ามเนื้อของลำไส้หดตัว บีบไล่ของเสียหรือส่วนที่เป็นกากอาหารออกจากระบบ กลายเป็นอุจจาระนั่นเอง

สเปนเซอร์ระบุว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครมีข้อมูลมาก่อนว่าเซลล์ประสาทของ “สมองที่ 2” ของคนเราดังกล่าวนี้มีจำนวนมากน้อยเพียงใด และทำงานร่วมกันอย่างไรในการขับของเสียออกจากระบบย่อยอาหาร การวิจัยครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการเริ่มต้นศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนี้ ซึ่งในที่สุดสามารถนำไปสู่การเยียวยาปัญหาอย่างเช่นอาการท้องผูก หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติในช่องท้องได้

สเปนเซอร์เชื่อว่า หากเราสามารถทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ว่า “สมองที่ 2” ของเราทำงานอย่างไร ก็อาจส่งผลให้เกิดแนวทางใหม่ในการรักษาอาการของโรคอย่างภาวะหดหู่ซึมเศร้า หรือกระวนกระวายได้

Advertisement

ทั้งนี้ แม้ว่า “สมองที่ 2” จะไม่ได้ “คิด” ในแบบเดียวกับที่ระบบประสาทส่วนกลางหรือสมองของคนเราคิด แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าสุขภาวะในช่องท้อง ส่งอิทธิพลถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนเราสูงมาก

ถึงระดับที่นักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่า สมองกับสมองที่ 2 อันไหนมีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึกมากกว่ากัน

ศาสตราจารย์สเปนเซอร์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในแง่ของวิวัฒนาการนั้น อีเอ็นเอสถือว่าวิวัฒนาการมาก่อนซีเอ็นเอส และน่าจะถูกเรียกว่าสมองที่ 1 แทนที่จะเป็นสมองที่ 2 ด้วยซ้ำไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image