‘นาซา’ เตรียมส่งยาน ศึกษา ‘เฮลิโอสเฟียร์’

ภาพ-NASA/Southwest Research Institute)

เดนนิส แอนดรูชิค รองผู้อำนวยการประจำกองอำนวยการภารกิจทางวิทยาศาสตร์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ทางนาซาเตรียมการภารกิจใหม่ที่เตรียมส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในราวปี 2024 โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษา “เฮลิโอสเฟียร์” ซึ่งเป็นทรงกลมขนาดมหึมา ที่ดวงอาทิตย์สร้างขึ้นสำหรับปกป้องระบบสุริยะทั้งหมดจาก รังสีคอสมิคพลังสูงที่มีต้นกำเนิดมาจากห้วงอวกาศระหว่างกลุ่มดาว

“เฮลิโอสเฟียร์” ดังกล่าวประกอบขึ้นจากอนุภาคสุริยะที่มีประจุ บวกับสนามแม่เหล็กสุริยะ ทำหน้าที่ปกป้องโลกและระบบสุริยะด้วยการสกัดกั้นไม่ให้รังสีพลังสูงจากห้วงอวกาศทะลุผ่านเข้ามา อย่างไรก็ตาม การปิดกั้นดังกล่าวไม่ได้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์แบบ ดังนั้นจึงมีอนุภาคจากห้วงอวกาศทะลุผ่านเข้ามาด้วยความเร็งสูง ภารกิจใหม่ของนาซา ก็คือการส่งยานซึ่งเรียกว่า “อินเตอร์สเตลลาร์ แมปปิง แอนด์ แอคเซเลอเรชัน โพรบ” หรือ “ไอแมป” ขึ้นไปทำหน้าที่เก็บรวบรวมชนิดและศึกษาอนุภาคที่ผ่านเฮลิโอสเฟียร์เข้ามาดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความเข้าใจในการทำงาน “กรองรังสีคอสมิค” ของเฮลิโอสเฟียร์ให้มากขึ้น

ภาพ-NASA/Southwest Research Institute)

ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อการปกป้องโลกจากอนุภาครังสีดังกล่าวเหล่านั้นเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์สำหรับการส่งยานอวกาศไปสำรวจอวกาศห้วงลึก นอกระบบสุริยะในอนาคตอีกด้วย

ยานสำรวจอนุภาค “ไอแมป” จะติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ 10 ชิ้น สำหรับการตรวจจับและจำแนกอนุภาคต่างๆ ที่ทะลุผ่านเฮลิโอสเฟียร์เข้ามา โดยจะถูกส่งขึ้นไปประจำอยู่ในวงโคจรเสถียรตรงจุดลากรานจ์ 1 ซึ่งเป็นจุดสมดุลของแรงโน้มถ่วงระหว่างดวงอาทิตย์และโลก อยู่ห่างจากโลกไปในทิศทางที่มุ่งสู่ดวงอาทิตย์ราว 1.5 ล้านกิโลเมตร

Advertisement

โครงการไอแมปดังกล่าวนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 492 ล้านดอลลาร์ ไม่รวมค่าจัดส่งขึ้นสู่วงโคจร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image