วันบนโลก ‘ยาวขึ้น’ เหตุเพราะ ‘ดวงจันทร์”

NASA

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย วิสคอนซิน-เมดิสัน นำโดย สตีเฟน เมเยอร์ส ศาสตราจารย์ด้านธรณีศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัย นำเสนอรายงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ผลโดยสรุประบุว่า ช่วงเวลากลางวันของโลกยืดยาวออกทุกปี โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฤดูกาล หากแต่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลของดาวบริวารดวงเดียวของโลก นั่นคือ “ดวงจันทร์”

ข้อสรุปดังกล่าวของทีมวิจัยได้จากผลการศึกษาที่เชื่อมโยงข้อมูลของศาสตร์สองสาขาเข้าด้วยกันโดยอาศัยวิธีการเชิงสถิติ นั่นคือการรวมเอาทฤษฎีในเชิงดาราศาสตร์ เข้ากับการสังเกตการณ์ในทางธรณีวิทยา ซึ่งเรียกในทางวิชาการว่า “แอสโตรโครโนโลยี” โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการสร้างประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะขึ้นมาใหม่

“หนึ่งในความทะเยอทะยานของเราก็คือ เพื่อบอกเวลาให้ย้อนหลังไปไกลในอดีตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อพัฒนาตารางเวลาทางธรณีวิทยาให้เก่าแก่ให้ได้มากที่สุด” ศาสตราจารย์เมเยอร์สระบุ “เราต้องการศึกษาก้อนหินต่างๆ ที่อายุเก่าแก่หลายพันล้านปีให้ได้แบบเดียวกับที่เราสามารถศึกษากระบวนการทางธรณีวิทยาสมัยใหม่ได้”

ตามทฤษฎีทางดาราศาสตร์ที่ระบุว่าทุกอย่างในระบบสุริยะของเราต่างมีสนามแรงโน้มถ่วง ซึ่งส่งผลกระทบต่อวัตถุในท้องฟ้าทั้งหลายที่อยู่ใกล้เคียงได้ ผลกระทบที่สร้างความเปลี่ยนแปลงหลากหลายได้นี้เรียกกันในทางวิชาการว่า “มิลานโควิทช์ ไซเคิล” หรือ “วัฏจักรของมิลานโควิทช์” ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมบนโลกได้ เนื่องจากมันสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการกระจายของแสงแดดเหนือพื้นผิวโลก

Advertisement

การคำนวณของทีมวิจัยนี้พบว่า เมื่อ 1,400 ล้านปีมาแล้ว ดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลกมากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้มาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการหมุนรอบตัวเองบนแกนสมมุติของโลกให้เร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้มาก

จากการคำนวณพบว่า ณ เวลานั้น โลกหมุนรอบตัวเองเร็วมากใช้เวลาเพียง 18 ชั่วโมงก็ครบ 1 รอบ ดังนั้น 1 วันในตอนนั้นจึงมีระยะเวลาเพียง 18 ชั่วโมง ไม่ใช่ 24 ชั่วโมง

ทีมวิจัยของศาสตราจารย์เมเยอร์ส พบด้วยว่าดวงจันทร์ขยับถอยห่างออกจากโลกมาตลอดเวลา ซึ่งทำให้กลางวันหรือการใช้เวลาหมุนรอบตัวครบหนึ่งรอบของโลกยืดยาวขึ้นตามไปด้วย

Advertisement

“เมื่อดวงจันทร์ถอยห่างออกมาเรื่อยๆ โลกจะหมุนช้าลง เหมือนกับนักฟิเกอร์สเก๊ตที่หมุนตัวช้าลงเมื่อยืดแขนทั้งสองข้างออกจากตัวนั่นเอง” ศาสตราจารย์เมเยอร์สอธิบาย

วิธีหนึ่งในหลายวิธีที่ช่วยให้ทีมวิจัยของศาสตราจารย์เมเยอร์ส สามารถคำนวณการหมุนของโลกเมื่อกว่าพันล้านปีก่อนได้ก็คือ การตรวจสอบตะกอนภายในก้อนหินที่มีอายุ 90 ล้านปี ข้อมูลที่ได้จากภายในก้อนหินเก่าแก่นั้นบอกให้ทีมวิจัยล่วงรู้ถึงวัฏจักรของภูมิอากาศของโลกในเวลานั้นได้

จากการคำนวณของทีมวิจัยทำให้เชื่อว่า ดวงจันทร์เคลื่อนตัวออกห่างจากโลกเป็นระยะทาง 3.82 เซนติเมตรทุกๆ 1 ปี

ตามอัตราการเคลื่อนตัวดังกล่าวนี้ยังต้องใช้เวลาอีกหลายร้อยล้านปี ก่อนที่ดวงจันทร์จะออกห่างไปมากพอที่ทำให้คนบนโลกจำเป็นต้องคำนวณระยะเวลาของ 1 วันเสียใหม่ ซึ่งอาจหมายถึงวันหนึ่งจะกลายเป็น 25 ชั่วโมงขึ้นมา

แต่สิ่งที่ศาสตราจารย์เมเยอร์สและทีมวิจัยสามารถทำได้เลยในเวลานี้ก็คือ การใช้ข้อมูลทางธรณีวิทยาร่วมกับอัตราความเร็วของการถอยห่างออกจากโลกของดวงจันทร์ มาใช้เพื่อการทำนายประวัติศาสตร์ของโลกได้แม่นยำกว่าครั้งไหนๆ ที่เคยทำกันมา

เมเยอร์สสรุปว่า ข้อมูลที่บันทึกไว้ในทางธรณีวิทยาก็คือการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ของระบบสุริยะในตอนเริ่มต้นก่อตัวนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image