ทำไมการค้นพบของนาซา ‘ไม่ได้พิสูจน์’ ว่า มีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร

ภาพ NASA

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) แถลงถึงการค้นพบ “สารอินทรีย์” เก่าแก่บนดาวอังคารของยานสำรวจพื้นผิว คิวริออสซิตี ในก้อนหินภายใน เกลเครเตอร์ หลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่คิวริออสซิตีกำลังสำรวจอยู่ นอกเหนือจากนั้นยังสำรวจพบการผันแปรขององค์ประกอบของมีเทน ในบรรยากาศของดาวสีแดงดวงนี้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ราวกับมีบางสิ่งบางอย่าง “หายใจ” อยู่ยังไงยังงั้น

ถ้อยแถลงดังกล่าวนำมาจากรายงานผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์นาซา 2 ชิ้น ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ เจอร์นัลไซนซ์ ในวันเดียวกัน ที่น่าสนใจก็คือมีรายงานแสดงความคิดเห็นประกอบรายงานทั้ง 2 ชิ้นอีกหนึ่งชิ้นซึ่งเขียนโดย อิงเก โลส เทน เคท นักชีวะดาราศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยอูเทรชท์ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ชี้ให้เห็นว่า “สารอินทรีย์” ที่คิวริออสซิตีค้นพบนั้นสามารถอธิบายว่าเกิดขึ้นจากกระบวนการทางธรณีวิทยาได้ทั้งหมด

การค้นพบสารประกอบอินทรีย์ ซึ่งเป็นสารที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบพื้นฐานซึ่งคิดกันว่าเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นของสิ่งมีชีวิตในก้อนหินอายุ 3,500 ล้านปีบนดาวอังคาร ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญก็จริงอยู่ เช่นเดียวกับการพบการผันแปรตามฤดูกาลของมีเทน (CH4) ก็น่าตื่นเต้นเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ค้นพบเหล่านี้ ไม่ได้พิสูจน์ว่าเคยมี “สิ่งมีชีวิต” หรือแม้กระทั่งการเป็นหลักฐานหนักแน่นที่ชี้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารแต่อย่างใด แถมยังไม่ใช่การค้นพบโมเลกุลของสารอินทรีย์แบบเดียวกันนี้เป็นครั้งแรกด้วยซ้ำไป ทำให้การค้นพบครั้งนี้แม้น่าตื่นเต้น แต่ก็ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด

เหตุผลสำคัญประการแรกที่ เทน เคท ชี้ให้ทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ก็คือ “สารอินทรีย์” ในที่นี้นั้นมีความหมายกว้างอย่างยิ่ง เพราะกินความรวมถึงสารประกอบเป็นจำนวนมากที่มีอะตอมของคาร์บอนอยู่ภายใน เป็นสารซึ่งคิดกันว่าจำเป็นต่อการก่อรูปของสิ่งมีชีวิตก็จริง แต่ยังคงมีอีกหลายต่อหลายพื้นที่มากซึ่งมีสารประกอบอินทรีย์เช่นเดียวกันนี้ แต่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่

Advertisement

สารประกอบ ไทโอฟีน (C4H4S) และ ไดเมทิลซัลไฟด์ (C2H6S) ที่คิวริออสซิตีพบนั้น ไม่ได้หายากเย็นนักในระบบสุริยะจักรวาล ซึ่งมีคาร์บอนและไฮโดรเจนอยู่เป็นจำนวนมากที่ทำปฏิกิริยาซึ่งกันและกันก่อรูปเป็นสารประกอบอินทรีย์ขึ้นมาบ่อยๆ แม้ว่าจะไม่มีกระบวนการทางชีวะวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เทน เคท ระบุว่า แม้แต่ทุกวันนี้บนโลก เราก็ยังได้เห็นสารอินทรีย์จากต่างดาวเหล่านี้ทะลักเข้ามาในรูปของฝุ่นระหว่างดวงดาวและอุกกาบาต ทำให้เป็นไปได้เช่นกันที่จะตกลงสู่ดาวอังคาร

ดังนั้น ในทรรศนะของ เทน เคท การค้นพบสารประกอบอินทรีย์เก่าแก่นับพันล้านปีของคิวริออสซิตีครั้งนี้ เพียงเป็นการยืนยันชัดเจนเท่านั้นว่า สภาพพื้นฐานที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตให้เกิดและวิวัฒนาการขึ้นได้นั้น มีอยู่จริงบนดาวอังคารเมื่อประมาณ 3,500 ล้านปีก่อน และไม่ได้ถูกพลังจากภายนอก (อาทิ แสงอัลตราไวโอเลต) ทำลายไปจนหมดสิ้น

อันที่จริงผู้เขียนรายงานผลการศึกษาทั้ง 2 ชิ้นของนาซา ก็เห็นพ้องกับ เทน เคท เช่นเดียวกัน โดยย้ำไว้ในรายงานผลการศึกษาว่า ในเวลานี้ยังไม่มีทางที่จะบอกได้ว่า “อะไร” คือสิ่งที่สร้างโมเลกุลอินทรีย์ดังกล่าว และ โมเลกุลเหล่านี้มีคุณลักษณะจำเพาะที่แสดงให้เห็นว่าโมเลกุลเหล่านี้ไม่ได้เป็นโมเลกุลโดยตรงจากสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่อย่างใด

และย้ำชัดเจนว่า โมเลกุลที่คิวริออสซิตีสังเกตพบนั้นเป็นที่ชัดเจนว่า “ไม่ได้เปิดเผยถึงแหล่งที่มาของสารอินทรีย์ในเกลเครเตอร์ ซึ่งทำให้ที่มาของมันยังคงเป็นไปได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่มาจากแหล่งในเชิงชีวะวิทยา, เชิงธรณีวิทยา หรือจากอุกกาบาต” ทั้งนี้ เพราะโมเลกุลอินทรียสารที่พบนั้น เปลี่ยนแปลงไปมากจากเดิมที่เคยก่อรูปขึ้นมา เนื่องจากผ่านเวลามานานมากนั้นเอง

โครงสร้างทางเคมีแต่เดิมซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงแหล่งที่มาตั้งแต่ตอนเริ่มแรกได้ สูญหายไปหมดแล้วนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image