เหยี่ยวถลาลม : รุกฆาต

หลังจากได้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ฉบับชั่วคราว) แล้ว วันนี้เมื่อ 86 ปีก่อน (28 มิถุนา 2475) เป็นวันแรกที่ประเทศสยามมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้ใช้อำนาจตาม “ธรรมนูญการปกครอง” แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกมี 70 คน

มาจากฝ่ายคณะราษฎร 32 คน จากขุนนางระดับเจ้าพระยา 3 คนขุนนางระดับ พระยา 21 คน ระดับพระ 5 คน และระดับหลวง 19 คน

ที่ประชุมสภาผู้แทนเลือก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ซึ่งมาจากองคมนตรีและอธิบดีศาลอุทธรณ์เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร หรือนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งรัฐมนตรี 14 คน

Advertisement

แต่งตั้ง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการในสมัยรัชกาลที่ 6) เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก

ส่วน “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” เป็นเลขาธิการสภาผู้แทน

วันเดียวกัน สภาผู้แทนฯยังได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” 7 คน กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งต่อมาได้แต่งตั้งเพิ่มอีก 2 คน คือ พระยาศรีวิศาลวาจา อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ กับ พลเรือโทพระยาราชวังสัน

Advertisement

ทั้งสองคนหลังนี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการร่างรัฐธรรมนูญดังที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อภิปรายในภายหลังว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นโดยอิทธิพลของพระยามโนปกรณ์ฯ ส่วนพวกเราคณะราษฎรนั้นนานๆ ครั้งพระยามโนปกรณ์ฯจึงจะเรียกไปถามความเห็น

แม้ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 สยามจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ก็เพียง

3 เดือนเท่านั้น

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ช่างมีใจคอหาญกล้านัก ในวันที่ 1 เมษายน 2476 ประกาศ “งดใช้รัฐธรรมนูญ” บางมาตรา พร้อมกับ “สั่งปิดสภาผู้แทนฯ”

รวบอำนาจบริหารและนิติบัญญัติมาไว้ในมือนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว

การรุกรบดำเนินไปรวดเร็วยิ่ง

ถัดมาอีกวันเดียวก็ประกาศใช้กฎหมาย “คอมมิวนิสต์”

ทุกถ้อยคำจำกัดความของ “คอมมิวนิสต์” พุ่งเป้าไปยัง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม แต่เพียงผู้เดียว ทั้งๆ ที่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯมอบหมายให้เขียน “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ตามเสียงเรียกร้อง ทวงถามและกดดันทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี

“รัฐประหารเงียบ” ของพระยามโนปกรณ์ครั้งนี้คือ การเปิดหน้าสาดมีดหอกคมดาบเข้าใส่ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ชนิดไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image