มีอะไรที่แตกต่าง ?

มาถึงวันนี้เข้าใจ “ความหมาย” กันหรือยัง ?

คำว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” คำว่า “ไม่ให้เสียของ”

ย้อนไปเมื่อ 27 ปีก่อน

เข้าใจ “จุดมุ่งหมาย” รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ของ “รสช.” ก็ต่อเมื่อมีปรากฏคำว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

Advertisement

“รสช.” หรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนพร้อมคำกล่าวหา นักการเมืองโกงกินชนิดที่เรียกว่า “บุปเฟต์ คาบิเนต”

วิธีการหลักๆ ที่ใช้กันมากว่าครึ่งศตวรรษคือ ทำลายนักการเมืองสายพลเรือนไปพร้อมๆ กับเชิดชู “ทหาร”

ต่อจากนั้นก็ตั้ง “พรรคทหาร” โดยดูดเอานักการเมืองพลเรือนมาเป็นบริวารและ “นอมินี”

Advertisement

ยุค รสช.ก็แนวนั้น

คณะรัฐประหารจึงเคลิ้มว่าศรัทธาอันเกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อมีล้นหลาม

หลังจากเชิด นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นมาเป็น “นายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ” พรรคการเมืองนอมินี ก็หันไปสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีผ่านช่องทางรัฐสภาตามกติกาที่เขียนปูทางไว้

จึงปรากฏคำว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

คล้ายจะบอกกล่าวว่า การที่ต้องมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีนั้นเป็นภาวะจำใจอย่างยิ่ง

เพื่อไม่ให้เสียของที่ “รสช.” อุตส่าห์ใช้กำลังทหารและอาวุธจี้ยึดอำนาจรัฐมา “สุจินดา” จำต้องเสียสละ

มาถึงวันนี้ แม้ 27 ปีผ่านไป ทั้ง “สำนวน” และ “แผนประทุษกรรม” คล้ายคลึงกันมาก

“เสียสัตย์เพื่อชาติ” กับ “เพื่อไม่ให้เสียของ” !

นักการเมืองคือผู้ร้าย นายทหารผู้นำรัฐประหารคือพระเอก

ความจริงของคำว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” จึงปรากฏชัดแล้ว !

จากความเดิมที่ “คสช.” ยึดอำนาจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยพร้อมกับขอเวลาอีกไม่นานจนถึงวันนี้ผ่านไป เกือบ 5 ปี

“คนกลาง” เปลี่ยนใจเป็น “ผู้เล่น”

เล่นแบบเดียวกับปี 2535

นั่นคือไม่ปล่อยให้การยึดอำนาจเสียของ ไม่ปล่อยให้ “อำนาจ” ตกไปอยู่ในมือคนที่ไม่พึงปรารถนา

“ผู้นำรัฐประหาร” จึงกระโดดลงเล่นตามกติกาที่เขียนขึ้นใหม่ซึ่งปูทางให้ใช้ “ช่องทางรัฐสภา” ก้าวสู่อำนาจ

มีพรรคการเมืองพร้อมสนับสนุน

มีพวกบริวารทั้งหลายที่ผ่าน “กระบวนการเลือกตั้ง”

ส่วน “ท่านผู้นำ” ให้นั่งรอเวลาที่จะเสียสละความสุขส่วนตัวครั้งยิ่งใหญ่ “เพื่อชาติ”

“ท่านผู้นำ” จำใจอย่างยิ่งที่ต้องเดินไปตามยุทธศาสตร์อันมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

จุดมุ่งหมายของ 23 กุมภาพันธ์ 2534 กับ 22 พฤษภาคม 2557 ต่างกันอย่างไร !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image