มีอะไรที่‘ป.’ทำไม่ได้

แถลงการณ์คณะรัฐประหาร 9 พ.ย.2490 ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อ้างว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาวะค่าครองชีพ เรื่องข้าว และมีการปล่อยให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง จึงจำใจต้องยึดอำนาจเพื่อความสงบเรียบร้อย ช่วยกวาดล้างความทุจริตเหลวแหลก มิได้ทำรัฐประหารเพื่อหวังอำนาจทางการเมือง

ล่วงมาถึงปี พ.ศ.2557 หรืออีก 67 ปีต่อมา “เหตุ” ที่อ้างเพื่อทำรัฐประหารก็เหมือนเดิม

หัวหน้าคณะรัฐประหารหรือ “หัวหน้า คสช.” ยืนยันเช่นเดียวกันว่า “ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ”

แต่ 2490 กับ 2557 มีข้อที่ต่างกัน

Advertisement

“2490” มีความเขินอายต่อชาวโลกจึงอุปโลกน์ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี “คั่น” เอาไว้ชั่วอึดใจ (สำนวนสมัยนี้อาจว่า รัฐบาลจากค่ายทหาร)

เมื่อเห็นว่าประชาธิปัตย์ชักจะเพลินก็เลยเอาปืนจี้บังคับให้ ควง อภัยวงศ์ ลงจากเก้าอี้ แล้วเรียนเชิญ “ลูกพี่ใหญ่” จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่บัดนั้น จวบจนถึงวันที่ลูกน้องคนสนิท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หักหลัง

ส่วน “2557” นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเสียเอง

Advertisement

“ป-ประยุทธ์” ก็มีข้อที่แตกต่างจาก “ป. พิบูลสงคราม” อย่างมาก

“ป. พิบูลสงคราม” ไม่ได้เป็น “หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2490”

แต่ “ป- ประยุทธ์” เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2557 !

ในบันทึกของลูกสาวระบุว่า “จอมพล ป.” ถึงขนาดหลั่งน้ำตาในวันรัฐประหาร

ส่วน “ป-ประยุทธ์” แต่งเพลงและร้องเพลง คืนความสุขให้ประเทศไทย ด้วยการให้คำมั่นว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

“ป-ประยุทธ์” ไม่ได้หยุดแค่นั้น

ตั้งคนขึ้นมาเขียนกติกา เมื่อจะมีการเลือกตั้งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลก็ตั้งพรรคการเมืองโดยเอาชื่อ “นโยบายรัฐ” ที่แผลงจาก “ประชานิยม” เป็น “ประชารัฐ” ไปตั้งเป็นชื่อพรรค

ยอมให้พรรคการเมืองนั้นเอาชื่อ “ป-ประยุทธ์” ไปใส่ในบัญชีชื่อที่จะเสนอเป็น “นายกรัฐมนตรี”

ระหว่างนี้รัฐบาลยังคงมีอำนาจเต็ม

“ป-ประยุทธ์” ยังถือ “ม.44” ที่เบ็ดเสร็จเอาไว้ในมือ

ระหว่างที่การเลือกตั้งยังมาไม่ถึงนี้ “คสช.” ก็แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คน

250 คนจาก “คสช.” มีสิทธิในการยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเท่ากับ “ส.ส.” ที่มาจากประชาชน !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image