เหยี่ยวถลาลม : วิบากกรรม

เมื่อพรรคการเมืองและนักการเมืองเปล่งคำว่า “ต้านเผด็จการ” (ในที่นี้หมายถึง เผด็จการทหาร) น้อยนักที่จะออกมาจากหัวใจ ส่วนมากเป็นการเล่นคำให้ทันกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า

ที่ต้านเผด็จการจริงๆ มีอยู่น้อยพรรคและน้อยคน

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ถ้าหากใครหรือพรรคการเมืองใดตั้งเข็มมุ่งและเดินหน้าต้านเผด็จการอย่างจริงจัง จุดจบมักไม่สวยนัก

“ประชาธิปัตย์” ในรอบหลายปีมานี้ ไม่ใช่พรรคที่ต้านเผด็จการ !

Advertisement

ในทางตรงกันข้าม ภายใต้การนำที่ผิดทิศผิดทาง ในบางช่วงจังหวะ “ประชาธิปัตย์” กลับยืนอยู่ฝั่งเดียวกับเผด็จการด้วยซ้ำไป

การนำที่ผิดพลาดพาประชาธิปัตย์ลงหุบเหวตั้งแต่บอยคอตเลือกตั้ง

สมาชิกประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งยินดีกับการชักชวนกันปิดบ้านปิดเมือง ปิดสถานที่ราชการ บางคนฝันถึงขั้นปิดประเทศ

Advertisement

แกนนำจำนวนหนึ่งของประชาธิปัตย์ถือเอาการชนะคะคานทางการเมืองสำคัญกว่า “หลักการ” จึงเห็นดีเห็นงามกับการเผาบ้านเพื่อไล่หนู

แม้จะถูกหมิ่นหยามว่าจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร “ประชาธิปัตย์” ก็ไม่ได้รู้สึกผิดบาป !

มีประวัติศาสตร์บันทึกและยืนยัน ว่า “ประชาธิปัตย์” ยืนอยู่ตรงไหนในท่ามกลางการปลุกระดมและจุดไฟความเกลียดชัง

และเมื่อสถานการณ์สุกงอม บ้านเมืองถูกปั่นจนผู้คนเข้าใจว่า “ถึงทางตัน” มุขเดิมๆ ก็ถูกงัดออกมาใช้

กล่าวสำหรับ “สังคมไทย” ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งซึ่งเชื่อว่าจะมีอัศวินขี่ม้าขาวมาหยุดยั้งปัญหา และจะนำความสงบสุขมาให้

“คนหน้าเดิม” มาพร้อมๆ กับสำนวนเดิมๆ แผนเดิม คล้ายๆ กับหลัง “6 ตุลา 2519” ที่คณะรัฐประหาร ขอเวลา 12 ปี ทำตามบันได 3 ขั้น เพื่อปฏิรูปการปกครอง

คราวนี้มาในชื่อ “คสช.” หนักกว่าคราวนั้นตรงที่บอกว่า “ขอเวลาไม่นาน” แต่วางยุทธศาสตร์ 20 ปี มี ส.ว.250 คน แต่งตั้งเอาไว้เป็นฐานสนับสนุนให้ “หัวหน้า คสช.” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป หลังจากที่อยู่มาแล้ว 5 ปี

อีกทางหนึ่งใช้ “พรรคพลังประชารัฐ” รุกรบทุกพื้นที่

ตีประชาธิปัตย์แตกพ่าย

สูญพันธุ์ใน กทม.

หลายจังหวัดสำคัญในภาคใต้ แม้จะเคยยืนหยัดอย่างมั่นคงมาหลายทศวรรษก็ถูก “พลังประชารัฐ” กระหน่ำยับเยิน

“ประชาธิปัตย์” ที่ควรเติบโตเป็น 1 ใน 2 พรรคใหญ่สุดที่มีอุดมการณ์มั่นคงองอาจ จะกลายเป็น “พรรคขนาดกลาง” รอเสียบร่วมรัฐบาลหรือ !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image