เหยี่ยวถลาลม : อย่าช่างหาเรื่อง

ในวันหยุดตั้งใจเก็บหนังสือให้ได้สักเล่ม ไปหยิบเอา “สยาม หลากเผ่า หลายพันธุ์” ของ องค์ บรรจุน ที่ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษจัดทำ “สำนักพิมพ์มติชน” จัดพิมพ์ มาอ่าน วางไม่ลงจริงๆ

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนในคำนิยมว่า “องค์ บรรจุน” เป็นคนมอญที่โชคดี ถูกพ่อแม่บังคับให้รักษาอัตลักษณ์ของความเป็นมอญเอาไว้ตั้งแต่เกิดที่บ้านเกราะ สมุทรสาคร

เป็นครอบครัวมอญที่อพยพมาอยู่เมืองไทยเป็นร้อยๆ ปี

ในบทส่งท้าย “อยู่กับความแตกต่าง” องค์เขียนเอาไว้ว่า ชาติพันธุ์ที่สอง ที่รู้จักคือ คนจีน จากนั้นสามสี่ห้าหกก็เป็นฝรั่งเขมรแขกลาวก่อนจะรู้จักคนใต้ คนกลาง คนเหนือ จึงสรุปความว่า

Advertisement

“ประเทศไทยของเราเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่ง เท่าที่มีผู้ศึกษาไว้ พบว่ามีผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่ร่วมกันในดินแดนขวานทองแห่งนี้ไม่น้อยกว่า 54 กลุ่มชาติพันธุ์”

อาทิ ไทยใต้ ไทยใหญ่ ไทลื้อ ไทดำ ไทยเขิน ไทยยวน ไทยสุพรรณ ไทยโคราช ไทยเลย เขมร มอญ เวียดนาม ปะหล่อง ยอง ลาวหล่ม ลาวแง้ว ลาวตี้ ลาวครั่ง ลาวเวียง ลาวใต้ ผู้ไท จนถึงหลายจีน ทั้งแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน แคะ กวางตุ้ง แมนดาริน มลายู ม้ง เมี่ยน ม้งดำ ม้งขาว แขกเปอร์เซีย แขกสิกข์ อินเดีย ฝรั่งหลากหลายชาติพันธุ์ ตั้งแต่โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี ผสมปนเปรวมกันจน “องค์” สรุปว่า “ความเป็นไทยแท้ต่างหากที่เป็นของแปลก และหาได้ยากอย่างยิ่ง”

ความจริงก็คือ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยัน ชนกลุ่มต่างๆ อาศัยรวมกันในสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่างมีรูปแบบวิถีชีวิต ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป

แม้กระทั่งการไปงานศพตั้งแต่สมัยอยุธยาชาวบ้านก็ไม่ได้แต่งกายไว้ทุกข์ด้วยชุดดำหรือขาว ซึ่งเป็นแบบแผนที่รับมาจากต่างประเทศ

ล่วงมาถึง พ.ศ.นี้จึงไม่ควรที่จะมีใครอวดชูอัตลักษณ์ใดในทำนองยกตนข่มท่าน

ไม่หมิ่นหยามดูแคลนกันทั้งด้วยเรื่องเสื้อผ้า อาหาร ธรรมเนียม จารีต ประเพณีที่แตกต่าง

ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ชุดขาว-ดำ ก็ไม่ได้ใช้สำหรับไปงานศพ

คำว่า “ไทย” ก็เพิ่งบัญญัติใช้อย่างเป็นทางการในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ.2482

สยามแท้หรือไทยแท้คือความหลากหลาย

“ความแตกต่าง” ควรจะงดงาม !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image