เหยี่ยวถลาลม : อย่าทำเฉย

 

ถ้ามีความเข้าใจในสิทธิขั้นพื้นฐาน มีความตื่นตัว แล้วลุกขึ้นทวงสิทธิอันพึงมีพึงได้นั้นด้วยตนเองก็จะไม่เจ็บฟรี ไม่ตายฟรี

“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อัตตาหิ อัตโน นาโถ พุทธสุภาษิตนี้สอนว่า คนมีปัญญา สอนได้ฝึกได้ ดังนั้นไม่ว่าเรื่องราวใดทุกคนต้องเริ่มต้นด้วย “มือ” ของตัวเอง

ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย บาดเจ็บล้มตายจากเหตุสยดสยอง “จ่าคลั่ง” กราดฆ่า 29 ศพที่โคราชก็เช่นเดียวกัน ต้อง “เริ่มต้น” จากการปกป้องสิทธิเรียกร้องสิทธิด้วยตัวเอง

Advertisement

ไม่ใช่เดินๆ อยู่แล้วจู่ๆ มีใครก็ไม่รู้มายิง เจ็บง่ายๆ ตายฟรีๆ

ที่สูญเสียหนักคราวนี้เกิดจาก “อาวุธสงคราม” ซึ่งมีอานุภาพร้ายแรง ซึ่งมีทหารแค่ 1 นาย ไปชิงเอามายิงถล่มเมือง อาคาร ร้านค้า ฆ่าผู้คน

ถามว่า ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่ในพื้นที่ ระดับ ผบ.พัน ถึงผู้บัญชาการกองบัญชาการช่วยรบ ผบ.คุมคลังอาวุธ เจ้ากรมสรรพาวุธ ทบ. แม่ทัพภาค 2 จนถึง ผบ.ทบ. ได้ทำอะไรมากกว่าคำว่า “เสียใจ” กับ “เสียน้ำตา”

แสดงความรับผิดชอบด้วยการชี้ทางบรรเทาทุกข์ดีกว่าการบอกว่า “นาทีที่ลั่นไก คุณคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไป”

นั่นแค่ปัดออกไป !

“กองทัพบก” ควรจะยอมรับว่า ผู้คนจะไม่บาดเจ็บล้มตายกันมากมายขนาดนี้ ถ้า “มือฆ่า” กับ “อาวุธ” ไม่ได้หลุดออกมาจาก “กองทัพ” !

ควรจะกล่าวว่า “เราจะชดใช้เยียวยาอย่างถึงที่สุด” !

กล่าวกันตามมาตรฐานทั่วไป สังคมเรายังมี “พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539” ใช้บังคับ

กองทัพบกควรจะน้อมใจยอมรับผิดในความบกพร่อง หละหลวม ไร้ประสิทธิภาพในการเก็บรักษา เฝ้าระวัง “คลังอาวุธ” จากนั้นก็อำนวยการให้ผู้ได้รับความเสียหาย ผู้บาดเจ็บ ญาติผู้เสียชีวิตทั้งพลเรือนและตำรวจ ฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหายตามกฎหมาย จากกองทัพบก

นายอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของห้าง
เทอร์มินอล 21 โคราช ผู้ดำเนินธุรกิจ เป็นผู้ซึ่งได้รับความพินาศเสียหาย ยังควักจ่ายช่วยเหลือผู้บาดเจ็บผู้ตาย พร้อมทั้งยังให้ทุนการศึกษาบุตร และเยียวยา 500 ร้านค้าในทันที

จังหวัดโคราชร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน ตั้งโต๊ะระดมทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บและญาติผู้ตายในทันที

เงินทองไม่ได้สำคัญเท่าการ “มองเห็น” และ “ลงมือทำ” !

แค่ผิดต้องรู้ผิด เมื่อผิดพลาดแล้วก็ต้องยอมรับ ลงมือจัดการเยียวยาและแก้ไข ไม่ใช่ทำเฉย !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image