มุมมอง ‘โทษประหาร’ สังคมเรียนรู้-ปรับปรุง กม.

หมายเหตุ – เป็นมุมมองของนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน จากกรณีกรมราชทัณฑ์ประหารชีวิตนักโทษชาย “ธีรศักดิ์ หลงจิ” ด้วยการฉีดสารพิษเข้าร่างกาย เป็นคนแรกในรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยดังนี้


 

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง
รองโฆษกอัยการสูงสุด

เมื่อกฎหมายเขียนไว้อย่างไร อัยการต้องปฏิบัติอย่างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งภายในและภายนอก มีความเห็นส่วนใหญ่ที่ยังคงโทษประหารชีวิตไว้ในกฎหมาย เพื่อผลในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่มีความร้ายแรงหรือเป็นภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศไทย เช่น ความผิดฐานก่อการร้าย การฆ่าคน หรือความผิดฐานกบฏ ความผิดฐานค้ายาเสพติด ประเภทที่ 1 เป็นต้น

Advertisement

ทั้งนี้ เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีทรรศนะและความเชื่อว่า การมีโทษประหารชีวิต จะมีผลต่อการยับยั้งมิให้คนคิดที่จะกระทำความผิด ซึ่งเป็นผลต่อตัวผู้กระทำความผิดเองและต่อประชาชนทั่วไป

ส่วนผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายก็เห็นเป็นสองแนวทางบางกลุ่มเห็นว่ามีความจำเป็น และบังคับโทษประหารชีวิตในคดีที่มีพฤติการณ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสังคม เช่น การฆ่ายกครัว ข่มขืนแล้วฆ่า หรือปล้นทรัพย์แล้วฆ่า เป็นต้น

ในด้านผู้พิพากษานั้น เห็นว่าแม้ในคำพิพากษาจะตัดสินลงโทษประหารชีวิต แต่มักจะได้รับการบรรเทาโทษ หรือมีเหตุลดโทษอย่างอื่นที่ทำให้จำเลยไม่ได้รับโทษประหารชีวิตจริงๆ ในคำพิพากษา

Advertisement

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แนวโน้มของผู้พิพากษาและพนักงานอัยการส่วนใหญ่จะไม่กำหนดโทษประหารชีวิต กับความผิดที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีโทษประหารชีวิต แต่มักจะเลี่ยงไปลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน

เหตุผลสนับสนุนให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต คือ การประหารชีวิตเป็นโทษที่ละเมิดสิทธิในชีวิตของคน ซึ่งได้รับการยอมรับในนานาประเทศว่าชีวิตมนุษย์มีความสำคัญแม้ผู้นั้นจะกระทำความผิดร้ายแรงเพียงใด ก็ไม่อาจลงโทษให้ถึงแก่ความตายได้

ส่วนเหตุผลที่สำคัญอีกประการคือ ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม หากศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิตแล้ว ต่อมาภายหลังพบหลักฐานที่แน่ชัดว่าผู้ต้องโทษประหารชีวิต ไม่ได้กระทำความผิดเพราะจับผิดตัว

การแก้ไขให้กลับคืนสถานะเดิมทำไม่ได้แล้ว เพราะประหารชีวิตไปแล้ว

แต่ถ้าเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา หรือจำคุกตลอดชีวิต สามารถชดเชยเยียวยาได้

ในขณะที่เหตุผลในการคงอยู่ของโทษประหารชีวิต คือ เหตุผลที่โทษประหารชีวิตมีประสิทธิภาพในการยับยั้งผู้กระทำความผิด มีค่าใช้จ่ายในการบังคับโทษน้อยกว่าโทษจำคุก และมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

รวมถึงตัดผู้กระทำความผิดติดนิสัยหรือเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมออกไปจากสังคมโดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ดี ข้อพิสูจน์ว่าโทษประหารชีวิต มีผลต่อการยับยั้งผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่?

แนวทางในแผนงานของการยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายไทย คงจะมีลักษณะดำเนินการเป็นระยะๆ กล่าวคือ

ในระยะแรก จะพิจารณาความผิดใน 55 ฐานความผิดว่า ความผิดใดที่ไม่ควรมีโทษประหารชีวิต เช่น ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีผลทำให้คนตาย หรือความผิดฐานลักทรัพย์พระพุทธรูปในทางศาสนา ความผิดเกี่ยวกับราชการทหาร ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้น

ส่วนความผิดที่ร้ายแรงและประทุษร้ายต่อชีวิต เช่น ฆ่าคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน น่าจะยังคงโทษประหารชีวิตไว้

ในระยะที่สอง ซึ่งจะยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งหมด คงต้องพิจารณาต่อไปว่า หากยกเลิกแล้ว จะมีผลต่อการลดความผิดอาญาหรือไม่?

หากปรากฏว่าความผิดที่ไม่มีโทษประหารชีวิต มีสถิติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับก่อนที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต อาจมีแนวคิดที่จะนำโทษประหารชีวิต กลับมาบัญญัติไว้อีกหลังจากยกเลิกไปแล้ว

โดยสรุปแนวทางของประเทศไทยที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตบางฐานความผิดในกฎหมายไทย มีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่ควรต้องดำเนินการต่อไปคือ การจัดทำวิจัยและวิเคราะห์ว่าโทษประหารชีวิต ควรมีในกฎหมายไทยทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือไม่

และหากยกเลิกทั้งหมดจะมีความเสี่ยงอย่างไร หรือในทางตรงข้าม หากมีอยู่จะตอบโจทย์ว่าโทษประหารชีวิตขัดต่อหลักสิทธิมนุษย์ชนที่คุ้มครองชีวิตอย่างไร?

และการมีอยู่ แต่ไม่ได้ใช้ในทางปฏิบัตินั้น โทษประหารชีวิตที่ได้รับการบัญญัติในกฎหมายจะมีผลเป็นการยับยั้งการกระทำความผิดเพียงใด ซึ่งคำตอบจะเป็นเช่นใด ก็คงขึ้นอยู่กับทัศนคติ ของผู้บริหาร เจ้าพนักงาน และประชาชนที่จะตัดสินใจและดำเนินการต่อไป!


ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
อดีตอาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชน
และสันติศึกษา ม.มหิดล

สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังเห็นด้วยกับโทษประหาร มองว่าเป็นเพราะสังคมไทยมีวัฒนธรรมของความห่วงใย ใจอ่อน จึงเป็นเดือดเป็นแค้นเวลาเห็นลูกหลานของครอบครัวไหนถูกข่มขืน ถูกฆ่า เกิดการแสดงอารมณ์ตอบโต้อย่างรุนแรงทันทีต่อผู้ก่อคดี

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกนี้จะหายไปอย่างรวดเร็ว คือ ขึ้นเร็ว ลงเร็ว วิกฤตของเมืองไทยทุกอย่างเป็นอย่างนี้

สำหรับกรณีนักโทษประหาร คิดว่าเราขาดการมองรอบด้าน โทษประหารไม่ใช่มีแต่คุณ คือ ฆ่าให้สาใจ ตายตกไปตามๆ กัน เพราะอีกมุมหนึ่งก็มีโทษ เป็นดาบสองคม

การประหารยุติความรุนแรงของคนไปคนหนึ่ง แต่ก่อให้เกิดความรุนแรง ความคิดที่จะตอบโต้ จงเกลียดจงชังจากญาติของฆาตกรและครอบครัวของฆาตกร บางจังหวัดมีการฆ่าล้างโคตรทั้งครอบครัว ฆ่ากันไป ฆ่ากันมา 10-20 ปี ก็เกิดจากกรณีแบบนี้

ส่วนตัวเชื่อว่าประเทศไทยต้องใช้เวลาพอสมควรในการเปลี่ยนผ่านความรู้สึกของคนในสังคมและมวลชนไปสู่จุดที่รับฟังเหตุผลมากกว่าการใช้อารมณ์ชั่ววูบในการตัดสินใจ ต้องมีนักวิชาการและผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม การชี้นำในลักษณะตั้งคำถามขาวดำ ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร ก่อให้เกิดความคิดแบบสุดขั้วไปข้างใดข้างหนึ่ง จะไม่เกิดการเปลี่ยนผ่านสังคมไทยได้สำเร็จ เวลาเห็นใครตั้งคำถามขาวดำแบบนี้ จึงใจหาย

เมื่อเกิดวิกฤตแบบนี้ สื่อน่าจะรวบรวมกรณีฆาตกรรมและไล่ดูแต่ละคดี ว่าถูกตัดสินอย่างไร ความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน แล้วปัญหาจบหรือไม่ ควรเอาข้อมูลออกมาเผยแพร่ สะท้อนความจริง อย่าไปใส่ความเห็น ต้องให้ผู้อ่านตัดสิน สังคมจะได้เรียนรู้

สำหรับกรณีเนเธอร์แลนด์ที่ไม่มีโทษประหาร และคนเห็นด้วยกับการยกเลิกนั้น เชื่อว่าเพราะรากฐานการพัฒนาคนในความเป็นมนุษย์ต่างกัน

จะเห็นได้ว่าหลายประเทศสร้างคนให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นตั้งแต่เล็ก เราจะไม่เห็นการละเมิดสิทธิของคนอื่น

ต่างจากบ้านเรา เพราะฉะนั้นคุณจะออกกฎหมายลงโทษอย่างรุนแรงก็ช่วยไม่ได้


 

อังคณา นีละไพจิตร
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ เพราะเมื่อก่อนหลายประเทศทั่วโลกใช้โทษประหารชีวิต คนส่วนใหญ่มักจะชินกับการลงโทษประหารที่เปรียบเหมือนการแก้แค้น

คือการที่ไปฆ่าคนอื่นตายก็สมควรที่จะตายตามเขาไป แต่ตอนนี้มีแนวคิดใหม่คือ สิทธิในชีวิตเป็นสิทธิของบุคคลที่ไม่อาจลดทอนได้ พอมีแนวคิดนี้เข้ามาประกอบกับที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมเองมีปัญหา

เช่น การจับแพะหรือการทำให้คนบริสุทธิ์ได้รับโทษ ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมว่า ถ้าเรายังคงโทษประหารไว้แล้วเกิดลงโทษผิดคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประหารชีวิต หากประหารไปแล้ว เราจะคืนชีวิตเขาได้ยังไง

แนวคิดใหม่ก็เลยคิดว่าควรมีทางเลือกอื่นแทนการลงโทษประหารชีวิต เช่น การจำคุกตลอดชีวิต โดยที่ไม่มีการลดหย่อนโทษ เพราะสิ่งที่ประชาชนส่วนมากกังวลก็คือ การฆ่าคนตายติดคุกไม่กี่ปีก็ได้ออกมาแล้ว

แต่ปัญหาจริงๆ คือ พอเป็นนักโทษชั้นดีก็จะได้รับการลดหย่อนโทษ ในกรณีที่เป็นความผิดที่มีความสะเทือนใจหรือผิดร้ายแรง กรมราชทัณฑ์ก็มีการให้ระเบียบในเรื่องของการไม่ลดโทษให้กับคนกลุ่มนี้ก็สามารถที่จะทำได้

หากเราไปดูแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทางกระทรวงยุติธรรม หรือทางรัฐบาลเอง ได้ดำเนินการในเรื่องที่จะสร้างความเข้าใจกับประชาชน และปรับปรุงกฎหมายที่จะยกเลิกโทษประหารอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามคิดว่าทางรัฐบาลเองคงจะทำตามแนวทางที่เคยทำมา พร้อมกับปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไปด้วย

อนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกภาคี มีการเรียกร้องอยู่ตลอดให้ประเทศไทยยกเลิกโทษประหาร ประเทศไทยตอบไปว่าตอนนี้เราไม่ได้ใช้โทษประหารมา 9 ปีแล้ว

แต่ว่าเราก็คงถูกเรียกร้องต่อไปว่าให้ยุติโทษประหารชีวิต สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องมีเจตจำนงทางการเมือง มีการปรับปรุงกฎหมาย และทำความเข้าใจกับประชาชน อยากให้คำนึงถึงการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหาย อย่างไร เพราะเหยื่อต้องได้รับการฟื้นฟู

ขณะนี้ผู้เสียหายส่วนมากหากเป็นคดีอาญาอย่างมากก็ได้รับเงินเยียวยา 1 แสนบาท

นอกเหนือจากนั้นต้องฟ้องร้องเอาเอง อาจได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะไทยยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ บางคนก่อคดีก็ประกันตัวได้ หนีไปได้ ไม่ต้องรับผิด ซึ่งก็ต้องปรับปรุงแก้ไขกระบวนการยุติธรรมต่อไป



โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชน
และสันติศึกษา ม.ลัยมหิดล

คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการใช้โทษประหารชีวิตในประเทศไทย แต่ไม่ใช่ในประเทศอื่น เนื่องจากเป็นการลงโทษที่โหดร้ายทารุณทางจิตใจ เพราะคนที่รอคอยโทษประหารชีวิต ก็คงจะมีความทุกข์อยู่อย่างที่พอเดาได้ ถึงแม้คนเราเกิดมาก็ต้องตายกันทุกคน และทางรัฐบาลได้พยายามจะให้มีความทรมานทางร่างกายน้อยที่สุด โดยการประหารชีวิตด้วยการฉีดยา ซึ่งเป็นวิธีที่ดีขึ้น เกิดปัญหาน้อย

ส่วนที่สอง คือคนมองการลงโทษต่างกัน ส่วนหนึ่งได้รับการมองจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นการลงโทษเพื่อให้โอกาสกลับตัวกลับใจคืนสู่สังคม แต่ต้องลงโทษเพื่อเป็นแบบอย่าง ไม่ให้ทำเช่นนี้อีก และการลงโทษไม่ใช่ลงโทษกับผู้กระทำผิดอย่างเดียว แต่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเหยื่อ

โทษประหารชีวิต คนที่เป็นเหยื่ออาจจะรู้สึกดีขึ้น เพราะได้เอาคืน ความโกรธถูกระบาย แต่ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่เหมือนคนที่ได้รับการสั่งสอนมาในเรื่องการให้อภัย การไม่พยาบาท การให้โอกาสแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

อีกทั้งโทษประหารชีวิตไม่มีข้อพิสูจน์ในข้อเท็จจริงว่าลงโทษแล้วคนจะจำ และมีมุมมองว่าโทษประหารชีวิตไม่ได้ลดทอนอาชญากรรม เป็นการตัดชีวิตทิ้งไปเลย และการฆ่าคนคือบาปอันสูงสุดอยู่แล้ว

ปัจจุบันมีความพยายามที่จะให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยยกเลิกไปแล้วมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก

และสิ่งหนึ่งที่จะนำไปสู่การยกเลิกโทษประหาร คือไม่ประหาร ซึ่งถ้าประเทศนั้นไม่มีการประหารชีวิตครบ 10 ปี เป็นประเทศที่ไม่ใช้โทษประหารในทางปฏิบัติ แต่ปีนี้ ปีที่ 9 ก็เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นมา ทำให้เป็นที่สนใจ และการแสดงความคิดเห็นขององค์กรนิรโทษกรรมสากล ที่มีจุดมุ่งหมายมานานว่าอยากจะให้ประเทศต่างๆ ยุติโทษประหารชีวิต ทำให้ได้รับความสนในจากสื่อต่างๆ และเกิดการตอบโต้ที่ค่อนข้างแรงผ่านสื่อสังคม

เรื่องโทษประหารชีวิต มีคนคิดเห็นสองฝ่าย ในสังคมควรถกเถียงกันในหลายประเด็น เอาเหตุผลและความรู้สึกมาเปรียบเทียบกันถึงจะตกผลึก เป็นประเด็นของสังคมที่จะต้องรับฟังกันและกัน ให้พอดีกับการพัฒนาของสังคมไปเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image