ออกระเบียบเพิ่มเติมอัยการ ให้อำนาจ อสส.ถอนฟ้องสั่งไม่ฟ้อง คดีความมั่นคง

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด จากกรณีที่ ราชกิจานุเบกษาวันที่ 27 มิถุนายน เผยแพร่ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ให้พนักงานอัยการ คำนึงถึงปัจจัย 6 ข้อ ก่อนสั่งฟ้อง คดีจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบ สำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 สำนักงานอัยการสูงสุดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอัยการ

ซึ่งระเบียบดังกล่าวให้อำนาจอัยการสูงสุด สั่งคดีที่กระทบต่อความมั่นคงได้โดยตรง ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

“ข้อ 7 ในกรณีที่พนักงานอัยการเห็นว่า การฟ้องคดีจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศตามข้อ 5 ให้พนักงานอัยการพิจารณาโดยแสดงเหตุผลอันสมควรประกอบ โดยให้คำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้ด้วย
(1) สาเหตุหรือมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด ลักษณะความร้ายแรงของการกระทำความผิดผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิด

(2) เหตุผลตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศถึงผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมความสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ

Advertisement

(3) เหตุผลตามความเห็นของสภาความมั่นคงแห่งชาติถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ

(4) เหตุผลตามความเห็นของรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ

(5) เหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

Advertisement

(6) ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความสามัคคีของคนในชาติ

เเละ ข้อ 9 ถ้าอัยการสูงสุดเห็นเองหรือมีความเห็นจากการเสนอเรื่องจากหัวหน้าพนักงานอัยการตามข้อ 5ว่า การฟ้องคดีอาญาใดจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ อัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้อง แล้วแต่กรณี”

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีราชกิจานุเบกษาวันที่ 27 มิถุนายน เผยแพร่ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ว่า ระเบียบฯ ที่ประกาศใช้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบฯ ฉบับเดิมซึ่งประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2554 โดยเป็นการเพิ่มปัจจัยที่นำมาในการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ โดยเพิ่มเติมในเรื่อง “เหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์”

และเพิ่มเติมในประเด็นอำนาจในการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งเดิมต้องเป็นการเสนอเรื่องขึ้นมาจากพนักงานอัยการที่พิจารณาคดีตามลำดับชั้นเท่านั้น แต่ ส่วนระเบียบฯ ที่แก้ไขนี้ หากอัยการสูงสุดเห็นเอง เช่น ได้รับเรื่องจากส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเห็นว่าเป็นประเด็นตามข้อ 9 อัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีนั้นได้ โดยตรงคดีตัวอย่าง เช่น ชายพรากหญิงซึ่งเป็นเพื่อนและรักใคร่กันขณะเกิดเหตุอายุไม่เกิน 18 ปี แม่ฝ่ายหญิงแจ้งความร้องทุกข์พนักงานสอบสวนก็สอบสวนตามปกติ และเสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง แต่ผู้ต้องหาหลบหนี ส่งสำนวนมายังพนักงานอัยการ ก็มีการการขอให้ออกหมายจับตัวมาดำเนินคดีต่อไป แต่ข้อเท็จจริงภายหลังจากนั้นได้ความว่าชายหญิงได้แต่งงานกันและอยู่กินกันฉันต์ สามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน โดยมีภาพถ่ายงานแต่งงานและหลักฐานการมีบุตรมาแสดง ต่อมา ฝ่ายชายจะไปทำงานต่างประเทศ แต่ถูกจับที่สนามบินเนื่องจากมีหมายจับที่เคยสั่งจับไว้ และส่งสำนวนมายังพนักงานอัยการ กรณีอย่างนี้ เคยมีพนักงานอัยการเสนอความเห็น สั่งไม่ฟ้องผู้ชายเพราะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อ สาธารณชน ถ้าฟ้องไปกลับจะเกิดปัญหาเพราะลูกต้องห่างพ่อ ภรรยาต้องห่างสามีครอบครัวก็ขาดเสาหลักที่จะทำมาหาเลี้ยงครอบครัว

การดำเนินการสั่งคดีตามระเบียบฯ นี้ถือว่าเป็นเรื่องดุลพินิจของ พนักงานอัยการที่จะเสนอสั่งไม่ฟ้องแม้ว่าผู้กระทำความผิดจะกระทำความผิดจริงตามที่กล่าวหาก็ตาม

แต่โดยประการสำคัญ ก็จะเป็นดุลยพินิจ ที่อัยการสูงสุดจะพิจารณาสั่งการ ระเบียบนี้จึงเป็นระเบียบที่จะช่วยแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมอีกทางหนึ่ง

นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า แม้อัยการจะมีอำนาจสั่งไม่ฟ้อง หรือถอนฟ้อง แต่ทางเลือกที่ดีที่สุด คือทุกคนไม่ควรไปสุ่มเสี่ยงกระทำการที่ผิดกฎหมาย เพื่อไม่ต้องนำความทุกข์ที่ร้ายแรงมาสู่ตนเองและครอบครัว จะดีที่สุดเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม อย่าล่วงเลยมาถึงชั้นให้อัยการสูงสุดต้องสั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจากเป็นคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเลย ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามกฏหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมจะดีกว่า เช่นกรณีพนักงานห้างขายปลีกขนาดใหญ่ ขโมยซาลาเปาที่ห้างสั่งให้ทิ้ง มาให้ลูกกินเพื่อบรรเทาความหิวโหย แม้ว่าอัยการสูงสุดจะเคยสั่งไม่ฟ้องจนเป็นคดีประวัติศาสตร์ไปแล้ว แต่ในยุค 4.0 เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ที่ประชาชนจะหาข้อมูลข่าวสารได้โดยง่าย สามารถจะรู้ได้ทันทีว่า ยังมีหน่วยงานของรัฐ ของเอกชน ที่ให้ความช่วยเหลือผู้มีปัญหา ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส อยู่ที่ไหน จึงเป็นทางเลือกได้อย่างดี ที่ไม่ควรกระทำการผิดกฎหมาย ดังนั้น เมื่อประชาชนเดือดร้อนมีคดีความหรือ มีปัญหากฎหมาย ให้มาปรึกษาอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ที่สำนักงานอัยการใกล้บ้านท่าน เป็นการแก้ไขปัญหาในชั้นต้นได้ดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ คดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะหรือจะกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยที่อัยการสูงสุดในอดีตเคยสั่งไม่ฟ้อง เช่น คดีจับเครื่องบินสัญชาติยุโรปตะวันออกแห่งหนึ่งขนจรวดขีปนาวุธมาแวะมาเติมน้ำมันที่ประเทศไทยก่อนเดินทางไปส่งผู้ก่อการร้ายในอีกประเทศหนึ่งอดีตอัยการสูงสุดก็เคยมีคำสั่งไม่ฟ้อง เพื่อไม่ให้ประเทศไทยไปเป็นคู่พิพาทกับผู้ก่อการร้าย หรือตัวอย่างคดีที่กระทบต่อสถาบัน เช่น คดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image