รองปลัด ยธ.จวกสื่อนอกสัมภาษณ์ “ทีมหมูป่า” ปฏิบัติต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ควรให้อภัย

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีสื่อต่างประเทศสัมภาษณ์เยาวชนทีมหมูป่า ผู้ประสบภัยติดถ้ำหลวง ว่า สื่อต่างประเทศปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนผู้ประสบภัยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ และไม่ควรให้อภัย กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนเหตุผลที่ต้องใช้วิธีการพิจารณาสืบพยานเด็ก โดยให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้แปลคำถามในระหว่างชั้นสอบถามปากคำในกระบวนการก่อนพิจารณาพิพากษาของศาลและให้มีการบันทึกแถบเสียงและภาพไว้ด้วยนั้น ก็มุ่งเพื่อที่จะไม่ให้มีการสอบปากคำซ้ำในกระบวนการยุติธรรมชั้นถัดไป โดยมีจุดมุ่งสำคัญเพื่อมิให้เปิดบาดแผลที่อยู่ในตะกอนใจของเด็กและเยาวชน เนื่องจากอยู่ในวัยที่เปราะบางและต้องได้รับการปกป้องรักษา รวมถึงในระหว่างสอบปากคำเด็กและเยาวชนยังได้บัญญัติให้เด็กสามารถร้องขอมีบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กไว้ใจร่วมนั่งเป็นเพื่อนได้อยู่ด้วย เพื่อให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและมีความปลอดภัย

นายธวัชชัยระบุอีกว่า กระบวนการสอบถามหรือสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนหรือบุคคลอื่นใดกับเด็กที่ประสบภัยพิบัติที่ผ่านประสบการณ์ที่ตกอยู่ในภาวะทุกข์ยากตื่นกลัวสุดขีดนั้น แม้ไม่มีกระบวนการหรือกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนเฉกเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม แต่ก็ควรจะเทียบเคียงเอาวิธีกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนไปใช้ได้เท่าที่จำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีและน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง แต่น่าเสียดายที่สื่อต่างประเทศที่เราคิดและเข้าใจว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกระบวนการปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นอย่างดีแล้ว กลับมีมาตรฐานต่ำกว่าที่คิด เสมือนขาดสามัญสำนึกซึ่งมนุษย์ธรรมดาพึงระลึกได้ รวมขาดความรับผิดชอบได้เช่นนี้ ทั้งที่รู้ว่าประเทศไทยได้วางระบบการปกป้องดูแลและคุ้มครองเด็กผู้ประสบภัยกลุ่มนี้ไว้อย่างไร

นายธวัชชัยยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ไม่ควรจะมีใครไปยุ่งเกี่ยวให้เด็กตอบคำถามในเรื่องราวที่ผ่านมาซ้ำๆ วนไป เพราะอย่าลืมว่าเด็กเหล่านี้คือผู้ป่วย ใครจะรู้ว่าในจิตใจที่แท้จริงแล้วเด็กอาจจะมีความกลัวลึกๆ ในจิตใจ อาจจะกลัวเข็มฉีดยา และพัฒนาในสู่การเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีแต่มันมีพัฒนาการ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะบอกว่าการขอสัมภาษณ์หรือการตั้งคำถาม มีผู้ปกครองอนุญาต ก็ไม่สามารถกระทำได้ การตั้งคำถามถึงตัองมีนักจิตวิทยา กรองคำถามให้ที่เหมาะสม เพราะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นหลักตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง ก็ต้องพึ่งตระหนักรู้ในเรื่องนี้

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image