เปิดโปรไฟล์ ‘ชูรัตน์ ปานเหง้า’ ทัพหน้า ‘มิชชั่นถ้ำหลวง’ เล่านาทีดิ้นเฮือกสุดท้าย 17 วันระทึก

“มิชชั่น พอสซิเบิล” ที่ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ตลอด 17 วันระทึก ที่ปิดฉากไปเมื่อ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของคนทั้งโลก ส่งใจ ส่งแรง สนับสนุนให้ภารกิจระทึก กู้ชีวิต 13 หมูป่าอะคาเดมี ที่ตอนนี้ทั้ง 13 คน อุปสมบทเป็นพระ 1รูป บรรพชาเป็นสามเณร 11 รูป จบลงอย่างสวยงาม

นักดำน้ำอาสาจากหลายประเทศที่ร่วมเป็นทีมกู้ภัยกู้ชีพ นำ 13 หมูป่าอะคาเดมี ออกจากถ้ำหลวงประสานเสียงว่า นี่คือภารกิจระดับโลก ที่ไม่เคยพบเห็น และยากที่สุดในโลก

คำว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ใช้ได้จริงในภารกิจระดับโลกครั้งนี้

มิชชั่นที่ถ้ำหลวงฯทำให้หลายคนถูกยกเป็นฮีโร่ เกิดทีม “ฮีโร่ถ้ำหลวง” จากผลงานที่ทุ่มเทแรงกายใจตลอด 18 วัน นับแต่ 23 มิถุนายน ที่ 13 ชีวิตขาดการติดต่อ

Advertisement

หนึ่งในนั้นคือ “พล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานเหง้า” รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (รองผบช.ภ.5) “บิ๊กสีกากี” ที่นำทัพตำรวจร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงาน ในภารกิจระทึกโลกครั้งนี้

พล.ต.ต.ชูรัตน์ เปิดเผยว่า ตลอด 17 วันของภารกิจกู้ภัยนำ 13 ชีวิตหมูป่ากลับบ้าน มีทั้งวัน ที่มืดมน วันที่ความหวังริบหรี่ และนาทีที่ต้องดิ้นเฮือกสุดท้าย!!
ศิลปินวาดภาพ พล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานเหง้า บันทึกในทีมฮีโร่ถ้ำหลวง -ขุนน้ำนางนอน

ใครที่ติดตามการแถลงความคืบหน้าภารกิจช่วย 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวงอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้จัก เจ้าของคำคมประจำวัน ตัวแทนทัพตำรวจ ที่ร่วมชี้แจงความคืบหน้าผ่านสื่อมวลชน “พล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานเหง้า” และเป็นหนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญ

เช็กโปรไฟล์ “พล.ต.ต.ชูรัตน์” ทัพหน้าสีกากีภารกิจช่วยหมูป่าจากถ้ำหลวงฯ

Advertisement

เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่(นรต.) 34 เพื่อนในรุ่น มี พล.ต.ท.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฯลฯ

เกิดเมื่อ 28 ตุลาคม 2501 เป็นรองผู้บัญชาการอาวุโสลำดับที่ 41 โอกาสเลื่อนขึ้นเป็น ผบช. มีแน่ ถ้าถูกคัดในกลุ่มผลงานเข้าตา เกษียณอายุราชการในปี 2562

เส้นทางสีกากี เติบโตในแดนดินถิ่นตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่าเป็น ‘สิงห์อีสาน’ โลดโผนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นรองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองมหาสารคาม สภ.นาเชือก จ.มหาสารคาม เป็นสารวัตรสืบสวน สภ.สมเด็จ สภ.หนองกรุงศรี จ.กาฬสินธุ์ สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น รองผู้กำกับการสืบสวนสภ.เมืองศรีสะเกษ และตำแหน่งเดียวกันที่สภ.เมืองขอนแก่น

เป็นผู้กำกับการหัวหน้าโรงพัก ที่สภ.สีชมพู สภ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น สภ.เมืองร้อบเอ็ด สภ.เมืองอุดรธานี เป็นรองผู้บังคับการที่ภ.จว.กาฬสินธุ์ ภ.จว.สกลนคร

เป็นนายพลดำรงตำแหน่งผู้บังคับการภูธรหลายจังหวัดในภาคอีสาน ทั้ง นครพนม หนองคาย และยังเคยเป็นผู้บังคับการสืบสวนภาค 4

ก่อนขยับมาเช็กอินถิ่นภาคเหนือ เป็นรองผบช.ภ.5 จนถึงปัจจุบัน คุมพื้นที่จังหวัดเชียงราย เหนือสุดแดนสยาม และคุมงานปราบปรามยาเสพติด ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุ 13 ชีวิต หายเข้าไปในถ้ำหลวง จึงได้รับมอบหมายจากพล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ให้คุมทีมสีกากีภาค 5 เจ้าของพื้นที่ร่วมบูรณาการ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กองทัพและทุกองคาพยพ

พล.ต.ต.ชูรัตน์ เล่าว่า ได้รับมอบหมายภารกิจร่วมช่วยชีวิต 13 สมาชิกทีมหมูป่าตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน และเริ่มภารกิจเป็นส่วนหน้านำทัพตำรวจ 13 หน่วย ร่วมบูรณาการการช่วยเหลือ มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย “บิ๊กแป๊ะ”พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นแม่ทัพ นำทีมร่วมภารกิจครั้งนี้ แบบไม่ขอออกตัวมากนัก แต่ผบ.ตร.ร่วมงานกับผู้ใต้บังคับบัญชาและทุกหน่วยอย่างใกล้ชิด

“วันแรกๆผมเข้ามาที่ถ้ำหลวง เราไม่แน่ใจเลยว่าเด็กจะเข้าไปติดในถ้ำหรือเปล่า ยังอยู่ในถ้ำหรือออกไปแล้ว มีชีวิตอยู่หรือเปล่า และที่สำคัญเรามีข้อมูลเกี่ยวกับถ้ำนี้น้อยมาก จนกระทั่งเจอ เวิร์น อันส์เวิร์ธ ผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษ ที่เคยเข้าสำรวจถ้ำ เราก็ได้รู้ว่าถ้ำนี้มันซับซ้อน และลึก ทางอีกไกล” หัวหน้าทีมสีกากีในภารกิจถ้ำหลวงกล่าว

พล.ต.ต.ชูรัตน์บอกว่า หน้าที่ของตำรวจทั้ง 13 คือ กำลังกว่า 900นาย ที่ช่วยในภารกิจถ้ำหลวง คือทำหน้าที่ทีมซัพพอร์ตของทุกหน่วย และอีกหน้าที่สำคัญคือจัดระเบียบสังคม จัดระเบียบสื่อมวลชนจำนวนมาก และจัดระเบียบการจราจร เพื่อให้การช่วยเหลือ 13 ชีวิตลุล่วง

“ทางเข้าถ้ำหลวงมีข้อจำกัดมาก ระยะทาง 5 กิโลโมตร จากถนนพหลโยธิน ที่แคบ มีจุดที่ต้องผ่านชุมชน ประกอบกับยิ่งนานวันคนที่เข้ามาเติมในถ้ำเยอะ ทั้งคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง เกี่ยวข้องทางอ้อม ทำให้ผมตัดสินใจย้ายรถ กำหนดเส้นทางจราจรเป็นเข้า 1 ทาง ออก2 ทางและย้ายสื่อมวลชนจำนวนมหาศาลออกไปด้านนอก ซึ่งทำให้การบริหารจัดการการช่วยเหลือง่ายขึ้น นี่คือหน้าที่ตำรวจ”รองผบช.ภ.5 กล่าว

พล.ต.ต.ชูรัตน์บอกว่า ช่วงวันที่ 4 วันที่ 5 ที่เด็กหายไป เรายังหาไม่เจอ มันเริ่มมืดมน
“ฝนตก น้ำขึ้นและเราไม่รู้ว่าเด็กอยู่ตรงไหนทุกอย่างเป็นข้อสันนิษฐาน เด็กจะอดข้าว อดน้ำ เขาจะไหวไม๊ นั่นคือความกังวล มันมืดมนแต่เรายังมีความหวัง”“จนวันที่เราเจอเด็ก 2 กรกฎาคม เราเจอเด็ก เราดีใจมาก ในศอร.(ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สุญหายฯ)นั่นคือข่าวดีมาก แต่เราดีใจได้แค่ 2 วัน เพราะ 3 วันหลังจากเจอเด็กเราเครียดกันมาก เราจะเอาเด็กออกมาได้ยังไง ในถ้ำมีโค้งหักศอก ทางแคบ เด็กว่ายน้ำไม่ได้ ดำน้ำไม่ได้ ไม่แข็งแรงพอ อ่อนแอ น้ำไม่ลง ออกซิเจนน้อยเราจะทำยังไงให้เด็กทุกคนรอด เราหวังผล 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็ไม่กล้ามั่นใจว่ามันจะออกมา 100 เปอร์เซ็นต์ เทคโนโลยี ความรู้ กำลังคน พลังใจ ศรัทธา เราเอามาใช้ทุกอย่างเพื่อให้ภารกิจสำเร็จ และการเสียชีวิตของจ่าแซม น.ต.สมาน กุนัน อดีตซีล ที่เกิดขึ้นในถ้ำ นั่นทำให้เราใน ศอร.ต้องตัดสินใจ และดิ้นเฮือกสุดท้าย”
“เราต้องทำให้ได้ เราต้องเอาเด็กออกมา เราเจอเขาแล้ว เราต้องเอาเขาออกมาอย่างปลอดภัยทุกคน” พล.ต.ต. ชูรัตน์ เล่าเรื่องราว ระทึกจากศอร.หน้าถ้ำหลวง

ก่อนทิ้งคำคมว่า ความสำเร็จครั้งนี้ ทุกแรงประสานจากทั่วโลกสำเร็จเพราะพลังความสามัคคี “สัพเพสัง สังฆะพูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธกา” แปลว่า ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ย่อมยังความเจริญสำเร็จ” ตามคำจารึกหน้าหมวกผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ตำรวจทุกนายสวมใส่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image