“บิ๊กจิน” เร่งลดเหลื่อมล้ำ คืนสิทธิพลเมือง เข้าถึงปชช. หางานให้ผู้พ้นโทษแก้ปัญหาสังคม

การลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างความเท่าเทียม สังคมปลอดภัย ให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม เป็นอีกภารกิจสำคัญที่กระทรวงยุติธรรม ผลักดัน สร้างผลให้เกิดรูปธรรมจับต้อง เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถปลัดกระทรวงยุติธรรม และคณะผู้บริหารระดับอธิบดี ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี

เปิดศูนย์  “CARE” หรือ ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ สำหรับผู้พ้นโทษ ซึ่งศูนย์ดังกล่าว เป็น 1  ในจำนวน 256 ศูนย์ที่เกิดขึ้น กระจายโดยทั่วประเทศ ในเรือนจำ ทัณฑสถาน และสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ จำนวน 256 แห่ง
ศูนย์ดังกล่าวจะจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ผู้พ้นโทษ และญาติมีงานทำ และป้องกันไม่มีการกระทำผิดซ้ำ  ซึ่งเรื่องดังกล่าว พล.อ.อ.ประจิน อธิบายว่า กระทรวงยุติธรรมนั้น ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาผู้พ้นโทษไม่ให้หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ  จึงต้องสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าให้ผู้ต้องขังก่อนได้รับการปล่อยตัวออกไปจากเรือนจำ  กรมราชทัณฑ์นอกเหนือจากมีภารกิจในการส่งเสริมและการพัฒนาผู้ต้องขังแล้วยังมีการจัดตั้งศูนย์แคร์  ขึ้นมา  เนื่องจากมีเป้าหมายเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขังก่อนถูกปล่อย

 จัดหางานให้ตรงกับความถนัด ของการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง

พล.อ. ประจิน อธิบายต่อว่า  นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบรายงานผลการพัฒนาและการส่งเสริมอาชีพผู้พ้นโทษ ผู้ถูกคุมประพฤติ เพื่อติดตามข้อมูลการประกอบอาชีพ ให้มีอาชีพและได้รับการยอมรับจากสังคมโดยไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกและเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป

“ซึ่งการจัดหางานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและความถนัดของแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้พ้นโทษสามารถประกอบอาชีพโดยสุจริตหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวระบบจะติดต่อกับผู้ประกอบการที่ยินดีรับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน การหาตำแหน่งงานว่างที่เหมาะสมเพื่อรองรับผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษ การให้คำปรึกษา คำแนะนำ การประสานขอรับทุนประกอบอาชีพจากแหล่งทุนต่างๆ และการให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ให้กับผู้รับบริการตามความเหมาะสม”

ติดตามผลชีวิตหลังพ้นคุก รายงานข้อมูล

พล.อ.อ.ประจิน ระบุอีกว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย การติดตามข้อมูล รายละเอียดการประกอบอาชีพ และความต้องการการช่วยเหลือจากภาครัฐ แบบรายงานสำหรับผู้พ้นโทษและผู้ถูกคุมประพฤติ เพื่อรายงานรายละเอียดการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ ระบบจะมีการรายงานสถิติจำนวนผู้พ้นโทษทั้งหมด และที่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมทั้งการแสดงที่ตั้งสถานที่ประกอบอาชีพของผู้ถูกคุมประพฤติและผู้พ้นโทษ ซึ่งการทำงานของระบบ CARE SUPPORT นี้ เมื่อดำเนินการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ จะเป็นประโยชน์ต่อการติดตามและทำให้ทราบถึงภาพรวมของการดำเนินชีวิตของผู้พ้นโทษในการประกอบอาชีพ รวมถึงความต้องการ ที่จะให้ภาครัฐสนับสนุนในด้านต่างๆ

อดีตผู้ต้องขังคดียาเสพติดกับเงินทุน ขายไก่ย่างหลังพ้นคุก

แม่ค้าไก่ย่าง อดีตผู้ต้องโทษคดียาเสพติด รายหนึ่งที่เพิ่งพ้นโทษ ที่เข้าร่วมโครงการและได้รับการจัดหาทุน เล่าว่า เป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์  เพราะตอนแรกที่รู้ว่ามีไปสอบถามเจ้าหน้าที่ ในเรือนจำว่าต้องทำอย่างไร ต้องลงทะเบียนเมื่อไหร่

หลังจากนั้นเสนอว่า หากพ้นโทษแล้วจะไปประกอบอาชีพอะไร ซึ่งตนเองก็ระบุว่าจะไปขายไก่ย่าง คิดสูตรเอง จะขายแถวบ้าน แต่เนื่องจากไม่มีทุนทรัพย์ เลยเสนอเรื่องไปยังเรือนจำเพื่อคัดเลือก ซึ่งทางเรือนจำก็พิจารณาให้ทุนประกอบอาชีพ  30,000 บาท หลังพ้นโทษ ก็กลับไปไปตั้งแผงขายไก่ย่างไม้ละ5 บาท วันหนึ่งก็ขายได้ประมาณ 500 บาท ก็พออยู่ได้ แต่ระหว่างที่เราขายของนั้นทาง เรือนจำก็ส่งเจ้าหน้าที่ ไปตรวจสอบว่าเราเอาเงินไปขายของจริงหรือไม่ โดยการแอบไปเยื่ยม โดยที่ไม่ได้บอกล่วงหน้า

อีกภารกิจลดความเหลื่อมล้ำ คืนสิทธิ “ความเป็นพลเมืองไทย”

หลังจากเยี่ยมชมศูนย์ “แคร์”  ภารกิจลดความเหลื่อมล้ำถัดไป คือการช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตามโครงการอำนวยความเป็นธรรมคืนสิทธิ สร้างโอกาส หรือการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สถานะทางทะเบียนราษฎรจำนวน 114 ราย ซึ่งจะเป็นผู้ประสบภัยและผู้อ้างอิง

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการลดความเหลือมล้ำทางสังคมทั้งสิทธิในการรับความช่วยเหลือ หรือสวัสดิการตามที่รัฐบาลนี้ให้ประชาชนเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดรอยต่อประเทศที่อาจยังมีบางส่วนยังไม่ได้รับสิทธิ์ต่างๆเพราะยังไม่ได้รับการยืนยัน ความเป็นพลเมือง

  “สำหรับโครงการดังกล่าวได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 มีการจัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคลหรือดีเอ็นเอทั้งคนไร้สัญชาติกลุ่มชาติพันธ์ที่อยู่ตามชายแดนและคนไทยที่ตกหล่นเนื่องจากไม่มีสิทธิบัตรหรือไม่ได้ไปแจ้งเกิดทางทะเบียนไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 9,175 ราย แบ่งเป็นบุคคลผู้ประสบปัญหา 5,466 รายและบุคคลอ้างอิง 3,709 ราย”

ส่วนจังหวัดกาญจนบุรี สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินการจัดเก็บสารพันธุกรรมแก่ราษฎรหลายสถานะและประสบปัญหาทางทะเบียนราษฎร์ ในพื้นที่ต่างๆในจังหวัดกาญจนบุรีจำนวน 9 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอมะขามเตี้ย อำเภอท่ามะกา อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วงเธอหนองปรืออำเภอบ่อพลอย อำเภอไทรโยค และอำเภห้วยกระเจา  มี

ผู้ประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎรจำนวน 74 รายและบุคคลอ้างอิงจำนวน 64 ราย รวม 138 ราย ที่เข้ารับการตรวจครั้งนี้   ซึ่งผลการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอจะถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาสถานการณ์ทะเบียนราษฎรหรือการได้สัญชาติ

นี่เป็นอีกบทบาท อีกภารกิจ อีก 1 จังหวัด ที่ พล.อ.อ.ประจิน เร่งเดินหน้าให้เข้าถึงประชาชน เพื่อต้องการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นปัญหาลำดับต้นของสังคมไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image