ศูนย์ประสานลูกหนี้แห่งชาติยื่นฟ้อง“อธิบดี-จนท.ดีเอสไอ”ปฏิบัติหน้าที่มิชอบดอง 6 คดีฟอกเงิน

เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 23 สิงหาคม ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี น.ส.กัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ พร้อมด้วย พ.ต.ท.บุญมี จีระเรืองรัตนา ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายศูนย์ฯ ผู้รับมอบอำนาจ นำผู้เสียหายรวม 12 ราย มายื่นฟ้อง พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอรวม 18 ราย ฐานสมคบร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต, สมคบกันเกินกว่า 5 คนในลักษณะเป็นซ่องโจรและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอาชญากรรมในกระบวนการฟอกเงิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 วรรคหนึ่ง, 209, 210 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (10), 11 และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1)

โดยยื่นฟ้องความว่า กลุ่มผู้เสียหายทั้ง 12 รายได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำผิดตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยอธิบดีดีเอสไอได้รับคำร้องทุกข์ไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 6 คดี แต่ดีเอสไอไม่ดำเนินการ “สืบสวนสอบสวน” กลับใช้วิธี “ตรวจสอบข้อเท็จจริง” แทน ซึ่งเป็นการบิดเบือนอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และเป็นการขัดขวางไม่ให้ผู้ร้องทุกข์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา อีกทั้งเป็นการตัดตอนไม่ให้มีการดำเนินคดีกับขบวนการฟอกเงิน ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสวรรค์ของการฟอกเงินและเปิดทางให้มีการปล้นโฉนดจากคนไทย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง

พ.ต.ท.บุญมี เปิดเผยว่า ฟ้องเนื่องจากมีการรับคำร้องทุกข์ไว้กว่า 2 ปีแล้วไม่ทำการสอบสวน ดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นอันตราย อาชญากรก็ลอยนวล คดีฟอกเงินมีความซับซ้อนมาก พนักงานสอบสวนให้คำตอบผิดปกติว่ายุติ ทั้งที่ประเด็นต้องสอบสวนมีอยู่ การที่ผู้ร้องทุกข์มาร้องแล้วบอกไม่พบความผิดอาญา ผู้ร้องทุกข์อาจกลายเป็นโดนแจ้งความเท็จได้ จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องมายื่นฟ้องให้รู้ว่าจริงหรือเท็จ เพื่อให้อธิบดีดีเอสไอกับเจ้าหน้าที่มาพิสูจน์ นำหลักฐานมาดู

พ.ต.ท.บุญมี จีระเรืองรัตนา กล่าวว่า ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ เป็นลูกหนี้ในช่วงฟองสบู่แตกปี 2540 ถูกยึดที่ดินไปมีลักษณะเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ กระทั่งปัจจุบันที่ดินเหล่านี้ที่ถูกยึดไปจากทั่วประเทศกว่า 2,000 ล้านบาทมีบริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าไปมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน โดยที่ดินยังอยู่ในความรับผิดชอบของกรมบังคับคดี ทำให้มีดอกเบี้ยพอกพูนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ลูกหนี้ที่เป็นโจทก์ประสงค์ให้ขายที่ดินทอดตลาดเพื่อชำระหนี้สินที่ค้างกันอยู่แต่กลับเป็นว่าถูกดอกเบี้ยพอกสูงยิ่งขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป จึงนำเรื่องไปร้องดีเอสไอ ทำการตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่ามีการกระทำผิดหรือไม่อย่างไร แต่ผ่านมา 2 ปี คดีกลับไม่มีความคืบหน้า โดยคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องได้เพียงเจ้าพนักงานดีเอสไอ ส่วนบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่จะทำการยื่นฟ้อง เท่ากับดีเอสไอเป็นความหวังเดียวในการดำเนินคดี

Advertisement

หลังการยื่นฟ้องแล้ว ศาลได้นัดฟังคำสั่งหลังการตรวจคำฟ้องเพื่อจะมีคำสั่งว่าศาลจะรับคำฟ้องนั้นไว้ไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ต่อไปหรือไม่ในวันที่ 18 กันยายน นี้ เวลา 09.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image