แชร์ว่อน วาทะ ‘อดีตรองปธ.ศาลฎีกา’ เข้าถึงหัวอกตำรวจ “เป็นเสาหลักกบก.ยุติธรรม…ต้องดูแลอย่าให้อัตคัต”

แชร์ว่อนในกลุ่มไลน์ สเตตัสบนไทม์ไลน์โลกโซเชียลของเหล่าสีกากีมาระยะหนึ่ง

“เห็นด้วยกับท่านอาจารย์หม่อมฯ ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ผู้พิพากษาและอาจารย์สอนกฎหมายแห่งเนติบัณฑิต” ใจความ ย้ำความสำคัญของ ต้นธารกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น “ตำรวจ” ยกเป็นเสาหลักกระบวนการยุติธรรม อ้างประโยคทองของอดีตรองประธานศาลฎีกา ก่อนบรรยายเชิงเปรียบเทียบ ชีวิต การทำงาน ตำรวจ อัยการ ศาล โดยพรรณาถึงความลำบาก ข้อจำกัด การลงทุน และความแร้นแค้นของอาชีพตำรวจ ซึ่งสีกากีอ่านแล้วโดนใจ กดไลก์ กดเลิฟกันรัวๆแสดงความเห็นด้วยกับข้อคิดข้อเขียนนี้ ว่าเข้าใจตำรวจโดยปราศจากอคติ

มติชน สัมภาษณ์ ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ อดีตรองประธานศาลฎีกา อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ เปิดเผยว่า ข้อความที่ส่งต่อกัน เป็นคำพูดของตนจริง แต่เฉพาะวรรคแรก ที่เป็นเครื่องหมายคำพูดโค้ดเท่านั้น ส่วนต่อท้าย ที่เปรียบเทียบบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรรมนั้นไม่ใช่คำพูดของตน

“ผมพูดจริง แต่แค่ส่วนต้นเท่านั้น ซึ่งพูดมานานหลายปีแล้ว เคยแชร์กันหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ต่อเติมกันไป วันนี้ภรรยาผมยังส่งข้อความนี้มาให้ บอกว่าแชร์กันในไลน์ ผมสงสัยเพราะเขากำลังปฏิรูปตำรวจ จึงนำข้อความนี้มาส่งต่อกันอีกครั้งล่ะมั้ง”
“ผมกล่าวประโยคนี้ในการบรรยายที่สถาบันตำรวจแห่งหนึ่ง ที่ อ.ศาลายา จ.นครปฐม เมื่อหลายปีมาแล้ว พูดให้ตำรวจฟัง จุดประสงค์เพื่อพูดปลุกจิตสำนึกความรับผิดชอบของตำรวจ บอกว่าพวกเขามีความสำคัญมากจริงๆในกระบวนการยุติธรรม พวกเขาคือเสาหลักที่ต้องแข็งแกร่ง” ม.ล.ไกรฤกษ์ กล่าว

“ตำรวจเป็นเสาหลักของความยุติธรรม เพราะเป็นผู้จับ ผู้สอบ แล้วส่งอัยการทบทวน แล้วมาถึงศาล ศาลก็ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง แต่อะไรที่พื้นฐานมันไม่หนักแน่น พื้นฐานมันชำรุด แน่นอนกระบวนการหรือบ้านหลังนั้นย่อมไม่เข้มแข็ง หรือไม่แข็งแรงอยู่ในตัว เพราะฉะนั้น ถ้ากระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นในทางอาญา ไม่ชัดเจน ไม่สง่าผ่าเผย ไม่สุจริต แน่นอนสิ่งที่ต่อยอดขึ้นไป ก็ค่อนข้างจะโคลงเคลงและไม่มั่นคง” อดีตรองประธานศาลฎีกา ยืนยันว่าประโยคนี้พูดไว้เมื่อหลายปีก่อน เพื่อย้ำเตือนใจตำรวจว่า คุณคือคนสำคัญในกระบวนการยุติธรรม

Advertisement

“ตอนนั้นผมยังพูดต่อด้วยว่า ..เพราะฉะนั้นตำรวจต้องเชื่อในกฎแห่งกรรม การทำงานของตำรวจหากทำหน้าที่ด้วยดี พูดดี บริการดี อำนวยความยุติธรรมด้วยดีกับประชาชนแม้เขาจะเป็นผู้ต้องหา คือบุญ กุศล การทำดี ประชาชนมาขอความช่วยเหลือ เดือดร้อนมา เขาสบายใจ ก็เหมือนได้ขึ้นสวรรค์ ทำดีทุกวันไปถึงสวรรค์ทุกวัน แต่หากอยู่ตรงนี้แล้วบิดเบือน กลั่นแกล้ง บิดพลิ้ว ประชาชนได้รับทุกข์ มันก็อีกทาง เพราะฉะนั้นให้เชื่อในกฎแห่งกรรม” ม.ล.ไกรฤกษ์ กล่าว และว่า แม้ในประโยคต่อท้ายที่กลุ่มตำรวจส่งต่อกัน จะไม่ใช่คำพูดของตน แต่สำหรับตนมองว่า สังคมไทยต้องให้ความสำคัญกับตำรวจ ต้องปรับปรุงตำรวจ ในมิติหนึ่ง คือต้องดูแลชีวิตการกินอยู่ของตำรวจด้วย

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มีคำถามว่าในการตามสืบสวนสอบสวนคดี การออกตรวจ ราชการมีน้ำมัน มีงบประมาณเพียงพอให้ตำรวจไปทำงานหรือไม่ หรือเขาต้องควักเงินตัวเอง ลงทุนเอง อุปกรณ์การทำงานมีให้พอหรือไม่ สนับสนุนเพียงพอหรือไม่ หรือตำรวจต้องจ่ายเอง ทั้งที่เขาคือคนสำคัญ ทำหน้าที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรม เป็นชั้นต้นที่จะชี้บอกผิดถูกในตอนต้น ตรงนี้หากราชการไม่มีให้ แล้วเขาขาด มันก็มีโอกาส เป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหา เมื่อเขาต้องดูแลตัวเอง ต้องไปหากันเอง เพื่อมาทำงาน ถ้าให้เขาต้องกินอยู่อย่างอัตคัต ผลที่ตามมาก็ยากที่จะเป็นเสาหลักที่แข็งแกร่ง

Advertisement
ขณะที่ในกลุ่มข้าราชการตำรวจ ที่มีการส่งต่อข้อความนี้ นอกจากประโยคในตอนตั้นแล้ว ต่อท้ายด้วยเนื้อหาใจความบรรยายชีวิตต้นธารกระบวนการยุติธรรมสีกากี ใจความคัดมาพอสังเขปดังนี้
“คนในกระบวนการยุติธรรม ย่อมทราบดี ตำรวจมีอิทธิพลที่สุด ในคดีอาญาบางคดี ไปไม่ถึงศาล
จบแค่สั่งไม่ฟ้อง จากตำรวจและอัยการ บางคดี ก็งดการสอบสวน จากตำรวจและอัยการ บางคดี ก็จบแค่ชั้นตำรวจ

ทุกคนฝันหวาน อยากได้ความยุติธรรม แต่ไม่หันไปดู ตำรวจเขาทำงานมีปัญหา อุปสรรค อย่างไร
คอยจ้องแต่จะด่า “ มึงทำไม่ไหว มึงลาออกไป”

ตำรวจ (สัญญาบัตร) ทำงาน 7- 8 ปี เงินเดือนแค่ 2-3หมื่น

ตำรวจ ถ้าขนอุปกรณ์ส่วนตัวกลับบ้านไป ที่โรงพัก คงเหลือแต่โต๊ะเก้าอี้ หรือบางโรงพักอาจว่างเปล่า เพราะโต๊ะเก้าอี้ ก็ซื้อกันมาเอง
กระดาษเป็นแสนๆ ตัน ที่ทำสำนวนส่งไปกองอยู่ที่อัยการ ศาล และโรงพักทั่วประเทศ นั่นก็เป็นเงินส่วนตัวของตำรวจ ที่ซื้อกันมาเอง

นี่ยังไม่รวมเงินที่ตำรวจต้องออกทุนเองในการเลี้ยงสายข่าว แหล่งข่าว เพื่อหวังผลการจับกุม
ส่วนพวกที่บอกว่า เงินส่วนแบ่งจราจรเยอะ โปรดเข้าใจเสียใหม่ว่า เขาให้แต่ งานจราจร คนละไม่เกิน 1 หมื่นต่อเดือน ไม่ได้ให้ สายงานอื่น

ไม่แปลกใจ ที่ตำรวจจะกู้สหกรณ์ ธนาคารกันเยอะ ทั้งเพื่อลงทุนทำงานตำรวจ ทั้งทำธุรกิจเสริม อาชีพเสริม กลายเป็นว่า ถ้าไม่มีอาชีพเสริม ทุ่มเทให้งานตำรวจอย่างเดียว เสี่ยงที่ชีวิตจะลำบาก
ถ้าเสาหลัก ทั้งสอบสวน สืบสวน ปราบปราม ฯลฯ ยังทำงานควักเงินเอง และโอนเอน ถูกแทรกแซงได้ง่าย จากผู้มีบารมีต่างๆ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ หวังได้ยากว่า จะเป็นเสาหลักที่มั่นคง
ปฎิรูปตำรวจต้องปฎิรูปทั้งระบบหลายๆด้าน ไม่ใช่คิดเพียงว่า “ มึงไม่ไหว มึงลาออกไป” คนเข้ามาใหม่ ก็จะเข้าสู่วังวนเดิม…” ข้อความส่งต่อ ในกลุ่มมตำรวจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image