กรมคุ้มครองสิทธิ์เลื่อนเอ็มโอยู’กสม.’พรุ่งนี้ไป ไร้กำหนด สะพัด!ฉุนให้เอ็นจีโอโจมตีเวที 23ส.ค.

รายงานข่าวเมื่อวันที่ 9 กันยายน เปิดเผยว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในกระทรวงยุติธรรม ได้แจ้งเลื่อนลงนาม “บันทึกความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน” กับสำนักงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 กันยายน ออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังจาก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในกระทรวงยุติธรรม กรมองค์การระหว่างประเทศในกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานระหว่างประเทศ (UNDP และ OHCHR ในประเทศไทย) ได้ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “บทบาทของภาคประชาสังคมต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ที่โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม โดยผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้นำร่าง “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” มาให้ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คนได้วิพากษ์และเสนอความเห็นเพื่อให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนำไปปรับแก้ไขเป็นร่างฉบับสมบูรณ์ให้สอดคล้องกับหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) ซึ่งรัฐบาลได้ให้คำมั่นไว้กับนานาชาติ

อย่างไรก็ดีในช่วงท้ายของการประชุมได้มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนลุกขึ้นชูป้ายประท้วงรัฐบาลและอ่านแถลงการณ์โจมตีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนว่า ไม่ยอมส่งร่างแผนฯ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมพิจารณาล่วงหน้า และร่างแผนฯ ดังกล่าวยังไม่มีการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ข่าวบรรยากาศในช่วงท้ายของการประชุมในวันดังกล่าวทำให้ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ และว่าที่ กสม. บางคนรู้สึกไม่พอใจท่าที กสม. ซึ่งเป็นดูแลรับผิดชอบหลักในการจัดงานครั้งนี้ ปล่อยให้องค์กรพัฒนาเอกชนออกมาโจมตีกรมคุ้มครองสิทธิฯ

ด้านนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวว่า เวทีในวันดังกล่าวเป็นการรับฟังความคิดเห็นขององค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งมีการลงทะเบียนล่วงหน้ากว่า 200 คน โดยมีการจัดแบ่งเวทีการรับฟังเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มสิทธิแรงงาน กลุ่มสิทธิในที่ดิน กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกลุ่มการลงทุนข้ามชาติ วิทยากรในแต่ละเวทีประกอบด้วย อดีต กสม., กรรมการสรรหา กสม. และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาสังคม บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบร้อย ส่วนในช่วงท้ายการประชุมที่มีองค์กรบางแห่งมาอ่านแถลงการณ์พาดพิงกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และชูป้ายประท้วงดังกล่าวนั้น ถือเป็นกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือกำหนดการทางการของผู้จัดงาน เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว

Advertisement

ส่วนกรณีที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขอยกเลิกการลงนามบันทึกความร่วมมือนั้น ประธาน กสม. กล่าวว่า ไม่ทราบเหตุผล ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า อธิบดีปิติกาญจน์ขอเลื่อนการลงนามออกไป และไม่เชื่อว่าสาเหตุจะเกิดจากเหตุการณ์ในวันที่ 23 สิงหาคม แต่แม้ว่ากรมคุ้มครองสิทธิฯ จะไม่ได้มาลงนามบันทึกความร่วมมือในวันที่ 10 กันยายน นี้ก็ตาม ในวันที่ 10 กันยายน สำนักงาน กสม. ยังคงมีการลงนามบันทึกความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน กับอีก 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมราชทัณฑ์ และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย กสม. มุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และพัฒนาบุคลากรในแต่ละองค์กรให้ปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image