อัยการธนกฤต ชี้เหตุศาลไม่รับฎีกา’จีที200’ไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย

อัยการธนกฤต เผย เหตุศาลไม่รับฎีกา เอวิเอ แชทคอม นำเข้า’จีที 200’ไร้คุณภาพขายกรมราชองค์รักษ์ข้อฎีกาไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยและไม่เข้าปัญหาสำคัญตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาเรื่องขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง ชี้ขั้นตอนบ.เอกชน ต้องชำระหนี้ 9 ล้านพร้อมดอกเบี้ย ตามคำพิพากาศาลอุทธรณ์มิเช่นนั้นถูกบังคับคดี

จากกรณีที่คดีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับอาวุธวัตถุระเบิดและยาเสพติดรุ่น จีที 200 จำนวนรวม 9 ล้านบาท ที่มีปัญหาไม่สามารถใช้การได้ และกรมราชองครักษ์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท เอวิเอ แชทคอม จำกัด กับพวก เป็นจำเลย และศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้บริษัท เอวิเอ แชทคอม จำกัด จำเลย ที่ 1 ชำระเงิน 9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 และค่าทนายโจทก์ 20,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์ และต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา และศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีคำสั่งยกคำร้องขออนุญาตฎีกาของบริษัท เอวิเอ แชทคอม จำกัด นั้น

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของวิธีพิจารณาความแพ่งสากล สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้อธิบายข้อกฎหมายในเรื่องการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่งว่า เดิมทีเดียวประเทศไทยใช้การฎีการะบบสิทธิในคดีแพ่ง โดยภายใต้การฎีการะบบสิทธิ คู่ความในคดีแพ่งมีสิทธิฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทำให้มีคดีขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาพิพากษาคดี จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 กำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาว่าคดีที่ได้ยื่นฎีกาเรื่องใดเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย เพื่อที่จะอนุญาตให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาจากระบบสิทธิมาเป็นระบบอนุญาตในคดีความทางแพ่งของประเทศไทย และหากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุด

ภายใต้หลักเกณฑ์ของการฎีการะบบอนุญาตในคดีแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 กำหนดให้การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดีแพ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา โดยการขออนุญาตฎีกาให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น มาตรา 248 กำหนดให้องค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วยรองประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกอย่างน้อยสามคนเป็นผู้พิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกา และมาตรา 249 กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อเห็นว่าปัญหาที่ฎีกาเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย โดยปัญหาสำคัญนี้ได้แก่
(1) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา
(3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน
(4) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น
(5) เพื่อเป็นการพัฒนาการตีความกฎหมาย
(6) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา

Advertisement

ตามที่บริษัท เอวิเอ แชทคอม จำกัด จำเลย ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาโดยอ้างเรื่องคดีขาดอายุความและกรมราชองครักษ์ โจทก์ ไม่สามารถอ้างเรื่องสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมเพื่อให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะได้นั้น ศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่า ปัญหาที่บริษัท ฯ ฎีกามานั้นไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง และไม่เป็นปัญหาสำคัญอื่นตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. 2558 ข้อ 13 ซึ่งกำหนดปัญหาสำคัญอื่นตามมาตรา 249 วรรคสอง (6) ไว้ว่า ได้แก่กรณีดังต่อไปนี้

(1) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งในสาระสำคัญ

(2) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับ ความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย

Advertisement

และเมื่อศาลฎีกาไม่อนุญาตให้บริษัท ฯ ฎีกา โดยยกคำร้องขออนุญาตฎีกาของบริษัท ฯ แล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้บริษัท ฯ ชำระเงินและดอกเบี้ยดังที่กล่าวมาย่อมถึงที่สุด และบริษัท ฯ มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษา หากไม่ปฏิบัติตามก็ย่อมเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีตามกฎหมายต่อไป

สำหรับการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดีของบริษัท ฯ ซึ่งเป็นคดีผู้บริโภคนั้น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 51 กำหนดให้นำเอาบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มีข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงระบบการฎีกามาเป็นระบบอนุญาตในคดีแพ่งเป็นผลให้มีการยกเลิกหลักเกณฑ์เรื่องราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับการยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย เนื่องจากมีระบบการกลั่นกรองคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยการพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาขององค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแล้ว สำหรับการฎีกาในคดีอาญายังคงเป็นไปตามระบบสิทธิตามหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยไม่ต้องมีการยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาพร้อมคำฟ้องฎีกาเหมือนในคดีแพ่งแต่อย่างใด

ด้วยตนเองเป็นอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของวิธีพิจารณาความแพ่งสากล ในคณะกรรมการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบฎีกาในคดีแพ่งเป็นระบบอนุญาตด้วย

การแก้ไขการฎีกาในคดีแพ่งเป็นระบบอนุญาตส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขการฎีกาในศาลชำนัญพิเศษ ได้แก่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลคดีภาษีอากร ศาลคดีแรงงาน และศาลคดีล้มละลาย โดยให้ยกเลิกการอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาในศาลชำนัญพิเศษดังกล่าว โดยไม่ต้องผ่านศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นการนำอุทธรณ์แบบกบกระโดด (leap frog) ของประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Common Law มาใช้ โดยได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีของศาลชำนัญพิเศษทั้ง 4 ศาล โดยกำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชำนัญพิเศษทั้ง 4 ศาล ต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาของศาลชำนัญพิเศษทั้ง 4 ศาล ให้สอดคล้องเป็นระบบเดียวกันกับหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาล โดยให้คู่ความมีสิทธิได้รับการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลล่างจากศาลลำดับชั้นที่สูงกว่าอย่างน้อยชั้นหนึ่ง มิฉะนั้นแล้ว หากศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาในคดีแพ่ง ก็จะทำให้คู่ความในคดีไม่มีโอกาสได้รับการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจากศาลลำดับชั้นที่สูงกว่าเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image