ยกฟ้อง ‘ธาริต-พงส.ดีเอสไอ’ คดี ‘มาร์ค-เทือก’ ฟ้องปฏิบัติหน้าที่มิชอบแจ้งข้อหาฆ่าคนตายสลายนปช.

เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และอดีตรองนายกฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 157, 200

กรณีเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 – 13 ธันวาคม พ.ศ.2555 ดีเอสไอได้สรุปสำนวนดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และดีเอสไอไม่มีอำนาจ เพราะต้องเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

โดยวันนี้จำเลยทั้ง 4 ซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล

โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักน้อย เป็นเพียงพยานแวดล้อมและความเห็นทางกฎหมาย ไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 จงใจกลั่นแกล้งโจทก์ในการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งในการแจ้งข้อกล่าวหาทำในรูปของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ มีจำเลยที่ 2-4 และอัยการเข้าร่วมเป็นเพียงคณะทำงาน โดยแต่งตั้งขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายของนายพัน คำกอง ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ คณะกรรมการไม่มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อ พยานหลักฐานไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสี่จงใจกลั่นเเกล้งเเต่งข้อกล่าวหาโจทก์ พฤติการณ์ไม่ได้เป็นการกระทำผิดตามฟ้อง ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีการวางกรอบไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจเกินเลย พิพากษายกฟ้อง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหา หรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด

แต่ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้รับคดีไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่ได้สอบสวนและแจ้งข้อหาโจทก์ทั้งสอง ตามที่โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนมามีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ อาจเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 ได้ คดีจึงมีการดำเนินกระบวนการพิจารณา สืบพยานมาตามลำดับจนมีคำพิพากษาในวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image