สัพเพเหระคดี : ขอแบ่งบ้าง : โดยโอภาส เพ็งเจริญ

คุณหยิน คุณเจริญ คุณสมนึก และคุณโผง เป็นพี่น้องกันเรียงกันมาตามลำดับ โดยคุณโผงเป็นน้องคนสุดท้องไม่มีภริยาไม่มีบุตร

บิดามารดาของทั้งหมดตายไปแล้ว คุณหยิน คุณเจริญ และคุณสมนึกพี่สามคนของคุณโผงล้วนตายไปแล้ว เหลือแต่หลานๆ อันเกิดแต่พี่ๆ บางคน

คุณโผงทำพินัยกรรมเขียนด้วยลายมือตนเอง ความว่า “ข้าพเจ้า นายโผง ได้ทำพินัยกรรมขึ้นไว้เพื่อแสดงเจตนาว่า เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรม ให้ทรัพย์สินต่างๆ ของข้าพเจ้า ให้นายเฉลิมชัยเพียงผู้เดียว หลานคนอื่นไม่มีสิทธิ ซึ่งทรัพย์สินของข้าพเจ้ามีดังนี้ 1. 2. 3. 4… 5……..6……11.”

แล้วคุณโผงลงลายมือชื่อไว้เรียบร้อย

Advertisement

ถัดลงมาจากนั้น คุณโผงเขียนข้อความเพิ่มเติมว่า “หุ้นทั้งหมดที่เข้าพเจ้าได้เล่นไว้ที่ ABN ขอยกให้นายเฉลิมชัย หุ้นทั้งหมดที่ข้าพเจ้าเล่นที่บริษัท ซิกโก้ ขอยกให้นายเฉลิมชัย” แต่ไม่ได้ลงชื่อกำกับไว้

ต่อมาคุณโผงตายลง

หลานๆ 7 คน มาฟ้องคุณเฉลิมชัยต่อศาล ขอให้ศาลพิพากษาบังคับคุณเฉลิมชัยให้แบ่งทรัพย์สินโดยเฉพาะหุ้นที่คุณโผงฝากไว้กับ 2 บริษัท แก่โจทก์ที่ 1-3 คนละ 139,986.09 บาท โจทก์ที่ 4 ถึง 7 คนละ 104,908.09 บาท

Advertisement

คุณเฉลิมชัยต่อสู้คดีว่าไม่ต้องแบ่งสักบาท

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้คุณเฉลิมชัยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 139,986.09 บาท โจทก์ที่ 4 ถึง 7 คนละ 104,908.09 บาท

คุณเฉลิมชัยอุทธรณ์คดี ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง

หลานคนอื่นๆ ทั้งเจ็ดที่เป็นโจทก์ฎีกาคดีอีก

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในส่วนหุ้นที่คุณโผงเขียนระบุเพิ่มเติมตอนท้ายโดยไม่ได้ลงชื่อกำกับ น่าเชื่อว่าเป็นเพราะคุณโผงเพิ่งระลึกนึกได้ว่ามีทรัพย์สินดังกล่าวด้วย แต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของคุณโผงที่ต้องการยกทรัพย์สินของตนเองทั้งหมด รวมหุ้นให้แก่คุณเฉลิมชัย

เมื่อคุณโผงทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่คุณเฉลิมชัย ถือเป็นการทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว ทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608

ดังนั้น โจทก์ทั้ง 7 จึงถูกตัดโดยผลของพินัยกรรม ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของคุณโผง โจทก์ทั้ง 7 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของคุณโผงผู้ตายจากคุณเฉลิมชัยได้

ศาลฎีกาพิพากษายืน

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10809/2559)


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1608 เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง
(1) โดยพินัยกรรม
(2) โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
ตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกนั้นต้องระบุไว้ให้ชัดเจน
แต่เมื่อบุคคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา 1657 พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image