เพิ่มขีดความสามารถรับมืออาชญากรรมข้ามชาติ “อัยการ” จับมือ “สถาบันการเงิน” ติวเข้ม สอบสวนคดี

อสส.เปิดความร่วมมือสถาบันการเงินกับการสอบสวนของพนักงานอัยการ เน้นเพิ่มศักยภาพดำเนินคดีอาชญกรรมข้ามชาติ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุม 120 ปี ชั้น 1 สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นประธาน เปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง “ความร่วมมือของสถาบันการเงินกับการสอบสวนของพนักงานอัยการ” โดยการประชุมสัมมนาครั้งนี้สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุดร่วมกับสมาคมธนาคารไทยจัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการแก่พนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ การดำเนินคดีจากสำนักงานต่าง ๆ ภายในสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบงานข้อมูลทางการเงินให้แก่หน่วยงานจากสถาบันการเงินประเภทธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐด้วย
โดยมีพนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี จำนวนประมาณ 100 คน ประกอบด้วย สำนักงานการสอบสวน  สำนักงานคดีอาญา  สำนักงานคดีอาญาธนบุรี สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้  สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานคดีค้ามนุษย์  สำนักงานคดีการปราบปรามการทุจริต สำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร  สำนักงานคดีอัยการสูงสุด สำนักงานคดีศาลสูง เเละสำนักงานคดียาเสพติด

นายเข็มชัย อัยการสูงสุด กล่าวว่า เรื่อง ความร่วมมือของสถาบันการเงินกับการสอบสวนของพนักงานอัยการ ที่สำนักงาน การสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในโครงการนี้ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงาน การสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมข้ามชาติการสอบสวนคดีอาญา เป็นขั้นตอนหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเริ่มต้นคดี หากการเริ่มต้นได้ดำเนินการไปโดยถูกต้อง ตามกฎหมายแล้ว ผลการสอบสวนจะถูกต้องครบถ้วนมีมาตรฐานและอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องในคดีทุกฝ่าย โดยเฉพาะคดีความผิดซึ่งได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 20 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนมีอำนาจมอบหมายให้พนักงานอัยการคนหนึ่งคนใดรับผิดชอบทำการสอบสวนแทน หรือให้ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนด้วยก็ได้ อันเป็นการเพิ่มบทบาทของ พนักงานอัยการทุกคนในการสอบสวนคดีความผิดนอกราชอาณาจักรในโอกาสที่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ทำให้การไปมาหาสู่ติดต่อกันระหว่างประเทศของประชากรของประเทศต่างๆ มีมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะมีการกระทำความผิดในลักษณะอาชญากรรมข้ามชาติเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการกระทำความผิดลักษณะนี้ส่วนใหญ่มีเป้าประสงค์ในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงิน

“ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่พนักงานอัยการจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินการบัญชีที่ผิดปกติน่าสงสัย รวมถึงรูปแบบและเทคนิคการติดตามร่องรอยทางการเงินการบัญชี (เชิงลึก) ของสถาบันทางการเงิน ประเภทธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ การดำเนินคดีอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว ถึงแม้ว่าสำนักงานการสอบสวนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงก็ตาม แต่พนักงานอัยการในสำนักงานอื่น ก็อาจจะได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนให้ทำการสอบสวนแทน หรือร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวน รวมทั้งต้องตรวจรับสำนวนการสอบสวน และพิจารณาสำนวน การสอบสวนที่บางเรื่องเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20จึงเห็นว่าหากได้พัฒนาความรู้ด้านนี้ให้กับพนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสำนักงานอัยการที่ดำเนินคดีอาญาด้วย ก็จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง เราจึงคาดหวังว่าการสัมมนาจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่ทางราชการและส่วนตัวของผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา เพราะว่านอกจากจะเป็นการเสริมสร้างสมรรถนะ เพิ่มเติมความรู้ในด้านทักษะและเทคนิคเชิงลึกในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ระหว่างสถาบันทางการเงินประเภทธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ กับพนักงานอัยการ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาไปเป็นการจัดทำข้อตกลงความร่วมมืออีกด้วย”อัยการสูงสุด กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image