ตร.จับมือ กสทช. เปิดศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์

ตำรวจร่วม กสทช.เปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ พร้อมประสานสหรัฐ-ญี่ปุ่น แสดงความเชื่อมั่นสู่ระดับสากล ‘บิ๊กโจ๊ก’ เข้มสินค้าปลอมแบรนด์ดังปิดล้อม 6 จว.ใช้กฎหมายฟอกเงิน ยึดทรัพย์กว่า 200 ล้านแล้ว

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. พร้อมด้วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร., พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร., นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. ร่วมเปิด “ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และระงับการเผยแพร่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการกระทำความผิดอื่นๆ ออนไลน์” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระดับสากล โดยมีผู้แทนสถานทูตสหรัฐ และประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วม

นายฐากรกล่าวว่า ตามที่นโยบายของรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ร่วมกับ กสทช. และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งรัดดำเนินการปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งที่จำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป และในช่องทางออนไลน์ จากเดิมที่ต้องประสานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งจะดำเนินการขอออกหมายศาลเรียกตัวผู้กระทำผิดนานถึง 6-8 เดือน โดยการเปิดศูนย์ดังกล่าว จะร่นระยะเวลาให้เหลือเพียง 1-3 วัน ซึ่งในการทำงานเปรียบว่ายกสำนักงานตำรวจแห่งชาติสาขาย่อยมาตั้ง โดยจะมีพนักงานสอบสวนรับเรื่องร้องทุกข์ และส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ กสทช.ดำเนินการแจ้งผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ที่ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบางเว็บไซต์ที่ถูกเข้ารหัสทำให้ไม่สามารถปิดกั้นได้ เนื่องจากมีต้นทางอยู่ต่างประเทศ ก็ได้ประสานผ่านสถานทูตสหรัฐเพื่อเชิญตัวแทนจากกูเกิล, เฟซบุ๊ก และยูทู[ เพื่อหารือและเข้าเยี่ยมชมการทำงานของเราต่อไป ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ก็จะเชิญตัวแทนผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นไลน์ เข้าร่วมในการปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยต่อจากนี้ สำนักงาน กสทช.ก็จะพิจารณาขยายขอบเขตงานให้ดูแลควบคุมเรื่องสื่อลามก รวมถึงการค้ามนุษย์ ต่อไป

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวว่า หลังไทยได้รับการปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List : PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) เป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2550-2560 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปิดล้อมตรวจค้นแหล่งท่องเที่ยว 6 จุดสำคัญ คือ เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี, หาดป่าตองใน จ.ภูเก็ต, พัทยา จ.ชลบุรี, จ.เชียงใหม่, จ.นครราชสีมา และ เยาวราช กทม. รวมถึงพื้นที่อื่นในกรุงเทพฯ สามารถจับกุมผู้ต้องหากว่า 40 ราย มาดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงิน รวมถึงยึดทรัพย์ มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท พร้อมนำมาตรการทางภาษีมาบังคับใช้ ถือเป็นมิติใหม่ในการดำเนินการตามกฎหมาย

Advertisement

นอกจากนี้ ยังได้มีการสั่งปิดเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 2,900 แห่ง ซึ่งการเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์นี้ เพื่อเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่สามารถปิดและสกัดกั้นการละเมิดลิขสิทธิ์ และการละเมิดสิทธิบัตรได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และความผิดอื่นๆ ที่กระทำในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อแสดงให้นานาชาติเห็นว่าประเทศไทยมีมาตรการที่จะดำเนินการในเรื่องของการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรทางออนไลน์อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน นายปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท โมโน ฟิล์ม จำกัด พร้อมด้วยนายบรรณสิทธิ์ รักวงษ์ ผอ.สถานีโทรทัศน์ ช่อง MONO29 เดินทางเข้าร้องทุกข์กับศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อระงับการเผยแพร่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการกระทำความผิดอื่นๆ ออนไลน์

นายปฐมพงศ์กล่าวว่า ทางบริษัท โมโน ฟิล์ม เป็นบริษัทที่นำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศ และผลิตภาพยนตร์ ก่อนนำมาออกอากาศทางช่องโมโนทเวนตี้ไนน์ ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 8 ปี ซึ่งในการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศมาออกอากาศบริษัทมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ละเมิดกลับนำไปภาพยนตร์ที่บริษัทเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง ไปแสวงหารายได้โดยไม่ได้ลงทุนอะไรเลย จากการตรวจสอบพบผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในการนำภาพยนตร์ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก ในเบื้องต้นพบแล้วมากกว่า 100 ราย มูลค่าความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท แต่พบหลักฐานการกระทำผิดอย่างชัดเจน ขณะนี้ 20 ราย วันนี้จึงรวบรวมพยานหลักฐานมาร้องทุกข์ ในส่วนของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อระงับการเผยแพร่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการกระทำความผิดอื่นๆ ออนไลน์ ที่เปิดขึ้นเพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดีถึงจะติดตามผู้กระทำผิดมาได้ไม่หมดแต่ก็เป็นการปิดกั้นไม่ให้ผู้ที่จะมาชุบมือเปิบนำไปหาผลประโยชน์ทั้งๆ ที่ไม่ได้ลงทุนอะไรเลย หลังจากนี้ ทางบริษัทก็จะรวบรวมพยานหลักฐานในส่วนที่เหลือมาแจ้งความต่อไป

Advertisement

พร้อมกันนี้ นายภาณุวัตน์ พุ่มศรีทอง ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทผู้นำเข้าเพลงสากลดัง อาทิ โซนี่มิวสิค บีอีซีเทโร วอร์นเนอร์มิวสิค และยูนิเวอร์เซล เดินทางเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน เพื่อให้ช่วยดำเนินการปิดเว็บไซต์สตรีมมิ่งเพลงสากลกว่า 27 แห่ง ที่ลักลอบนำเพลงในลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image