คุก 2 บิ๊กแบงก์UDBP 30 ปี 12 เดือน เปิดธนาคารลวงลงทุนแชร์ลูกโซ่-ปรับกว่า 3 ล้าน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 ธันวาคม ที่ห้องพิจารณา 813 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3805/2559 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายเค วิน ลัย (Mr.Ke Vin Lai) อายุ 52 ปี สัญชาติมาเลเซีย ผู้จัดการธนาคาร UDBP และนายหยาง หยวน เฉา (Mr.Yang Yuan Zhao) อายุ 51 ปี สัญชาติจีน รองผู้จัดการธนาคาร UDBP และบริษัท ยูดีบีพี แมนเนจเม้นท์ จำกัด โดยนายนายหยาง หยวน เฉา ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 12, 123 พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 26, 27, 52, 54 พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 12

กรณีเมื่อปี 2556 – 14 พ.ค. 2558 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใช้และก่อตั้งธนาคาร United Development Bank Of Pacific Limited (UDBP BANK) หรือธนาคารยูดีบีพี โดยไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย จนคนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นสาขาตั้งอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐวานูอาตู และร่วมกันหลอกลวงชักชวนให้บุคคลจำนวนมากสมัครเป็นสมาชิกเข้าร่วมลงทุนฝากเงิน หรือลงทุนซื้อหุ้นกับยูดีบีพี แบงก์ ตั้งแต่ 200 – 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเงื่อนไขพาคนมาสมัครสมาชิกเพิ่ม จะได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นตั้งแต่ร้อยละ 15-45 ซึ่งล้วนเป็นการหลอกลวงประชาชน เหตุเกิดที่ 198/2 อาคารไดมอนด์-รัชดา แขวง-เขตห้วยขวาง กทม. และที่อื่นเกี่ยวพันกัน โดยจำเลยให้การปฏิเสธ

วันนี้ศาลเบิกตัวจำเลยทั้งสองที่ถูกคุมขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาฟังคำพิพากษา

โดยศาลพิจารณาแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษในความผิดฐานใช้ชื่อธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย, รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต, รับคนต่างด้าวทำงานผิดจากเงื่อนไข, ฉ้อโกง และการทำงานไม่ตรงกับสถานที่และเงื่อนไขตามที่ได้รับอนุญาต พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 30 ปี 12 เดือน และปรับคนละ 7,000 บาท ส่วนบริษัทจำเลยที่ 3 ให้ปรับกว่า 3 ล้านบาท

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายละเอียดการลงโทษที่ศาลอาญาลงโทษ นายเค วิน ลัย และนายหยาง หยวน เฉาและบริษัท ยูดีบีพี แมนเนจเม้นท์ จำกัด โดยนายนายหยาง หยวน เฉานั้น ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน พิพากษาให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ในความผิดฐานร่วมกันใช้ชื่อหรือแสดงชื่อในธุรกิจทางการเงินว่าธนาคารโดยมิใช่สถาบันการเงิน จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 6 เดือน ปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 50,000 บาท, ฐานร่วมกันรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานให้ทำงาน จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 6 เดือน ปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 5,000 บาท, ฐานร่วมกันรับคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานให้ทำงานกับตนผิดไปจากเงื่อนไขที่กำหนดใบอนุญาตทำงาน ปรับจำเลยทั้งสามคนละ 4,000 บาท

ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด จำคุกจำเลยที่ 1-2 กระทงละ 5 ปี รวม 6 กระทง เป็นจำคุกคนละ 30 ปี ปรับจำเลยที่ 3 กระทงละ 500,000 บาท รวม 6 กระทง เป็นปรับ 3,000,000 บาท, ฐานเป็นคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ทำงาน ทำงานผิดไปจากเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ปรับจำเลยที่ 1-2 คนละ 3,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้นายเควินและนายหยาง จำเลยทั้งสองมีความเกี่ยวพันกับคดีแชร์ลูกโซ่ โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2558 พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) แถลงข่าวว่า จากการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าธนาคาร UDBP ไม่ได้จดทะเบียนเป็นธนาคาร แต่ประกอบธุรกิจคล้ายกับการแชร์ลูกโซ่ โดยการระดมเงินจากประชาชนในประเทศจีนกว่า 8,000 ราย และผู้เสียหายชาวไทยอีก 4 ราย และมีการยักย้าย โอนเงินของบริษัทไปเป็นผลประโยชน์ของผู้บริหารเป็นการส่วนตัว และเมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบเส้นทางการเงินนั้น ก็พบว่าเงินที่หมุนดังกล่าวมาจากประเทศจีนเข้ามายังประเทศไทย ก่อนจะส่งต่อไปที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งปลายทางจะสิ้นสุดที่ประเทศวานูอาตู ส่วนผู้ต้องหาทั้ง 2 นั้น ได้ลงนามกับเอ็มโอยูของบริษัท ยูฟัน ในการฝากเงินประมาณ 10 ล้านดอลล่าสหรัฐฯ แต่ได้ยกเลิกสัญญา เพราะไม่มีเงินไปฝากตามที่ตกลงไว้ ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่จะทำการแยกสำนวนคดี UDBP กับคดียูฟันคนละสำนวน เนื่องจากมีการกระทำความผิดที่ต่างกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image