ส.ต้านโลกร้อนร้องศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน สั่งนายกฯแก้วิกฤตฝุ่นกรุงเทพใน 3 วัน

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนนำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคม พร้อมด้วย ประชาชนในเจตจัตุจักร บางเขน ลาดพร้าว ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานรวม 5 ราย ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลางกรณีละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 จนเกิดวิกฤตการสะสมของฝุ่นละอองชนาดเล็กหรือ PM 2.5 เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเจ็บป่วยและก่อปัญหาด้านสุขภาพตามมามากมาย จึงขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งให้นายกฯใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันควบคุม ระงับหรือบรรเทาอันตรายและความเสียหายที่เกิดจากปัญหาฝุ่นละอองดังกล่าวอย่างทันท่วงทีภายใน 3 วันนับแต่ศาลมีคำสั่ง และให้นายกฯสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดยึด “กำแพงเพชรโมเดล” เป็นตัวอย่างในการการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ด้วยการสั่งห้ามเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ห้ามเผาซังนาข้าวหลังเก็บเกี่ยวอย่างเด็ดขาด รวมทั้งสั่งให้ผู้ว่ากทม.ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแพร่กระจายฝุ่นละอองขนาดเล็ก พร้อมเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับฝุ่นพิษ และห้ามมีการตัดต้นไม้ที่มีอยู่บริเวณริมทางเท้า ริมถนน โดยเด็ดขาด เว้นแต่เป็นการตัดแต่งเพื่อความสวยงามหรือป้องกันอุบัติภัยเท่านั้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองถือเป็นปัญหาวิกฤตสำคัญที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯและผู้เกี่ยวข้องตามละเลยเพิกเฉยต่อการเตรียมการป้องกันและแก้ปัญหา จนทำให้ประชาชนจำนวนมากเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวทางเดินหายใจ กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมูลค่ากว่า 2,600 ล้านบาท จะให้ประชาชนมานั่งรอการก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จ 3 ปีแล้วปัญหาจะคลี่คลายนั้น ไม่มีใครรอได้ ดังนั้นจะต้องมีการประกาศให้กรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษโดยเด็ดขาด และนายกฯต้องให้ความใส่ใจไม่ใช่นิ่งเฉยเดินสายประชุมครม.ต่างจังหวัด

เวลา 18.20 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมฯสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับทราบคำสั่งศาลปกครอง จากกรณีที่ได้ยื่นขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ คดีที่ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ , นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ละเลยต่อหน้าที่ควบคุม ระงับ หรือบรรเทาอันตราย และความเสียหายที่เกิดจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5ว่า

ศาลมีคำสั่งยกคำขอการไต่สวนฉุกเฉิน แต่เรื่องการพิจารณาคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ที่เราขอให้สั่ง “นายกรัฐมนตรี” ผู้ถูกฟ้องที่ 2ใช้อำนาจ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 9 สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันควบคุม ระงับ หรือบรรเทาอันตราย และความเสียหายที่เกิดจากปัญหาฝุ่นละอองดังกล่าวอย่างทันท่วงทีภายใน 3 วันนับแต่ศาลมีคำสั่ง และให้ “นายกฯ” สั่งการให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ยึด “กำแพงเพชรโมเดล” เป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ด้วยการสั่งห้ามเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต , ห้ามเผาซังนาข้าวหลังเก็บเกี่ยวอย่างเด็ดขาดนั้น

Advertisement

ศาลก็รับไว้พิจารณา ซึ่งจะเรียกคู่ความไต่สวนเพื่อพิจารณาต่อไป โดยวันนี้ศาลยังไม่ได้กำหนดวันนัดที่จะไต่สวนดังกล่าว ซึ่งเราจะเตรียมตัวเพื่อรอการไต่สวนนั้นต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ “สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน” พร้อมด้วย “ประชาชนพักอาศัยเขตจัตุจักร-บางเขน-ลาดพร้าว” ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน รวม 5 ราย ร่วมกันยื่นฟ้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ , นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เมื่อช่วงเช้า (17 ม.ค.) ที่ผ่านมา ข้อพิพาทเรื่องละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จนเกิดวิกฤตการณ์ สะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเจ็บป่วยและก่อปัญหาด้านสุขภาพตามมามากมาย

โดยขอให้ศาลปกครองกลางกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวดังกล่าว รวมทั้ง ให้ “ผู้ว่าฯกทม.” ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแพร่กระจายฝุ่นละอองขนาดเล็ก พร้อมเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับฝุ่นพิษ และห้ามมีการตัดต้นไม้ที่มีอยู่บริเวณริมทางเท้า – ริมถนนโดยเด็ดขาด เว้นแต่เป็นการตัดแต่งเพื่อความสวยงาม หรือป้องกันอุบัติภัยเท่านั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image