ศาลแถลงสถิติปี 61 ทั้ง 3 ชั้นศาล พิจารณาเฉียด 2 ล้านคดี ‘ยาเสพติด-สินเชื่อ-บัตรเครดิต-กยศ.’ ติดท็อปไฟว์

เลขาศาลฯแถลงผลงานศาลทั่วประเทศ ปี 2561 ตั้งเป้าเป็นศาลดิจิทัลภายในปี 2563 ยกระดับศาลจังหวัด 6 ศาลสำคัญขึ้นเป็นระดับศาลอาญา มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคุม

เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 18 มกราคม ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมในภาพรวม ประจำปี พ.ศ.2561 โดยเปิดเผยว่า

สถิติคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ จำนวน 1,883,228 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,660,252 คดี คิดเป็นร้อยละ 88.16 และคดีที่เข้าสู่การพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ จำนวน 60,191 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 54,049 คดี คิดเป็นร้อยละ 89.79 ส่วนในชั้นศาลฎีกา รับพิจารณาคดี จำนวน 23,119 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 16,883 คดี คิดเป็นร้อยละ 73.02 รวมทั้ง 3 ชั้นศาลแล้ว มีคดีศาลรับพิจารณาไว้ทั้งสิ้น 1,966,538 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,731,184 คดี คิดเป็นร้อยละ 88.03

สถิติคดีทั้งหมดที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ แบ่งเป็นคดีแพ่ง จำนวน 1,245,716 คดี คิดเป็นร้อยละ 66.15

Advertisement

คดีอาญาจำนวน 637,512 คดี คิดเป็นร้อยละ 33.85

จำนวนข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศสูงสุด 5 อันดับ (เฉพาะคดีที่รับใหม่ในปี 2561) ได้แก่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 344,849 ข้อหา, สินเชื่อบุคคล 258,008 ข้อหา, พ.ร.บ. จราจรทางบก 181,933 ข้อหา, บัตรเครดิต 169,897 ข้อหา, กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 166,659 ข้อหา ส่วนการดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 150 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์ 105,414,884,005.69 บาท

สำหรับโครงการส่งเสริมการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลมาใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราว (Electronic Monitoring) หรืออุปกรณ์ EM ในปัจจุบันมีศาลที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 164 ศาล และมีการติดตั้งอุปกรณ์ไปแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,521 ครั้ง โดยประเภทคดีหรือฐานความผิดที่มีการติดอุปกรณ์ EM มากที่สุด 6 อันดับ ได้แก่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ร้อยละ 37, ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ร้อยละ 21, พ.ร.บ.จราจรทางบก ร้อยละ 16, ความผิดอื่นๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ, พ.ร.บ.เช็ค ร้อยละ 13, ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย ร้อยละ 8, พ.ร.บ.อาวุธปืน ร้อยละ 5 ในส่วนของการใช้อุปกรณ์ EM ในการคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีการสั่งใช้อุปกรณ์ EM ทั้งสิ้น จำนวน 13 ครั้ง ใน 5 ศาล

นายสราวุธ เปิดเผยถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการคดีว่า เพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลงตามนโยบายประธานศาลฎีกา ศาลยุติธรรมจึงได้พัฒนาระบบงานด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมและให้บริการประชาชน อาทิ ระบบยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing), ระบบส่งเอกสารและประกาศนัดไต่สวน โดยวิธีการลงโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-notice), ระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม (Case Information Online Service : CIOS), ระบบเชื่อมโยงข้อมูลหมายบังคับคดีกับกรมบังคับคดี, การเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์กับกรมคุมประพฤติ

Advertisement

“นอกจากนี้ ยังมีระบบการบันทึกการพิจารณาคดีโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Hearing Recording System) ระบบถอดแถบเสียงคำเบิกความพยานจากระบบบันทึกการพิจารณาคดี (Transcribing System) ระบบสืบพยานทางไกลผ่านจอภาพ (Teleconferencing System) ระบบการนำเสนอพยานหลักฐานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic resentation System) ระบบควบคุมห้องพิจารณาคดี (Electronic Control System) ระบบสืบพยานทางจอภาพเพื่อลดการเผชิญหน้า (Reduce Confrontation System) ระบบสืบค้นข้อมูลเขตอำนาจศาล ระบบบูรณาการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม การปักหมุดตำแหน่งสถานที่ราชการ และการยกเลิกสำเนาบัตรประชาชนในการติดต่อราชการศาลยุติธรรม”

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดตั้งศาลใหม่เพื่อกระจายความยุติธรรมและเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาคดีว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มีการจัดตั้งศาลใหม่ จำนวน 2 ศาล ได้แก่ ศาลแขวงภูเก็ต และศาลแขวงระยอง และในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 เตรียมจะเปิดทำการศาลใหม่ ได้แก่ ศาลแขวงบางบอน ศาลแขวงเชียงราย ส่วนศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลจังหวัดพระโขนง และศาลจังหวัดตลิ่งชัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านกฎหมายยกฐานะของทั้ง 6 ศาล จากศาลจังหวัดเป็นศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญามีนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลอาญาพระโขนง ศาลแพ่งตลิ่งชัน และศาลอาญาตลิ่งชัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคดีให้สอดคล้องกับปริมาณคดีในแต่ละประเภทที่มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งการยกระดับจากศาลจังหวัดเป็นศาลอาญาจะมีการบริหารจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาซึ่งเดิมเป็นระดับหัวหน้าศาลจังหวัด โดยผู้พิพากษาระดับอธิบดีศาลอาญาจะมาจากผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งมากด้วยประสบการณ์
นอกจากนี้ ยังมีการย้ายศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปอยู่บริเวณสนามหลวง (ย้ายเสร็จในช่วงเดือน ก.พ.นี้) พร้อมย้ายศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่อยู่บริเวณสนามหลวงเดิมมาอยู่ศูนย์ราชการ อาคารเอ แทนที่ตั้งศาลฎีกา และจะมีการเปิดที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ จ.ปทุมธานี และภาค 7 ที่ จ.นครปฐม ใหม่ด้วย ในวันที่ 1 มิ.ย. นี้

นายสราวุธ ระบุด้วยว่า สำนักงานศาลยุติธรรมยังเล็งเห็นว่า เทคโนโลยี ข้อมูล การเรียนรู้ และทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล รวมทั้งกลยุทธ์ด้านดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานในสังกัดสู่ระบบดิจิทัลได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วและมีความยั่งยืน จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของสำนักงานศาลยุติธรรม โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นประธานคณะกรรมการฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลภายนอก เพื่อประโยชน์ในงานส่งเสริมงานตุลาการ งานวิชาการ งานสนับสนุนศาลยุติธรรม และเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็น D-Court (ศาลดิจิทัล) ในปี 2563 หรือ 2020 ซึ่งความเป็นรูปธรรมของศาลดิจิทัล เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลออกหมายจับให้เป็น Realtime การลดการใช้กระดาษด้วยการทำสำนวนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image