ลงจากเสาแล้ว! เปิดใจ ‘หนุ่มนักธุรกิจ’ ปีนเสาสูง 10 ม. เผยยิบถูกปลอมลายเซ็นสูญ 8 ล้าน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ก.พ. ที่ บริเวณทางด่วนหลังกระทรวงสาธาณะสุข นายเอกวิชช์ เกษเจริญ อายุ 39 ปี นักธุรกิจ จ.นครสวรรค์ ได้ปีนเสาโทรศัพท์ความสูง 10 เมตร เพื่อต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเอง หลังจากถูกปลอมลายเซ็นเพื่อถอนเงินออกจากบัญชีของธนาคารกรุงไทย เป็นเงินกว่า 8.3 ล้านบาท ซึ่งได้ไปเรียกร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และมีการเรียกร้องความเป็นธรรมมาแล้วกว่า 10 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้า

ทางตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี ได้เข้าตรวจสอบเหตุและขอให้ลงมาด้านล่าง โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปช่วยปลดล็อคอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยพร้อมกับปลดป้ายข้อความให้ ก่อนจะลงมาด้านล่างด้วยความปลอดภัย

นายเอกวิชช์ กล่าวว่า ตนเองเป็นเป็นเจ้าของกิจการร่วมค้าห้างหุ้นส่วนจำกัดคงเพชรศักดิ์ คอนสตรัคชั่น กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต.ทวีกิจ เสถียรก่อสร้าง ได้ตัดสินใจเปิดบัญชีไว้กับธนาคารกรุงไทย สาขา สวรรค์วิถี จ.นครสวรรค์ ใช้ชื่อบัญชี กิจการร่วมค้าห้างหุ้นส่วนจำกัดคงเพชรศักดิ์คอนสตรักชั่นกับห้างหุ้นส่วน จำกัด ต.ทวีกิจเสถียร ก่อสร้าง

Advertisement

นายเอกวิชช์ กล่าวอีกว่า โดยเหตุเกิดเมื่อปลายปี พ.ศ.2551 เพื่อนสนิทปลอมลายมือชื่อ ใบมอบฉันทะ ไปถอนเงินจากธนาคาร สาขาปากน้ำโพ ในอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 8,377,371 บาท เพื่อใช้หนี้ธนาคารดังกล่าว โดยอ้างว่า ได้รับการมอบฉันทะ จากตนแล้ว ซึ่ง ตนยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ตนถูกปลอมลายเซ็นและไม่มีเอกสารใดๆ เกี่ยวกับตนเลย แต่ทางพนักงานธนาคารกรุงไทย สาขา สวรรค์วิถี จ.นครสวรรค์ กลับดำเนินธุรกรรมทางการเงินในบัญชีของตน แบบไม่ติดใจสงสัยแต่อย่างใด

นายเอกวิชช์ กล่าวต่อว่า ตนมีหลักฐานยืนยันการกระทำความผิด โดยมีการแจ้งความดำเนินคดี และผลการตรวจพิสูจน์ลายมือจากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายเซ็นของตน นอกจากนี้ยังพบว่า ทางธนาคารไม่ได้มีการคืนเงินให้กับผู้ฝาก และพบว่า พนักงานของธนาคารจงใจฝ่าฝืนระเบียบเงื่อนไข ให้เบิกเงินต่างสาขาโดยการมอบฉันทะ, มีการถอนเงินเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีการโทรแจ้งกับเจ้าของบัญชี , ในขณะทำการถอนเงินไม่มีบัตรประชาชนของเจ้าของบัญชี , มีการปลอมสำเนาบัตรประชาชนโดยไม่ได้มีการเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง , กฎหมายกำหนดว่าการโอนสิทธิ์จะต้องมีการทำหนังสือแต่กรณีดังกล่าวไม่มีหนังสือ และ มีการโอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่นโดยไม่ได้คืนให้กับเจ้าของบัญชี

Advertisement

โดยกรณีที่เจ้าของบัญชีไม่ได้ไปดำเนินการถอนเงินด้วยตัวเองพนักงานธนาคารควรต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษแต่เมื่อมีการพิจารณาจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ของพนักงานธนาคารจึงเชื่อว่ากรณีนี้เป็นการร่วมกันเป็นขบวนการฉ้อโกง

ที่ผ่านมาตนได้พยายามร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่มาแล้ว หลายครั้ง แต่ปรากฎว่าเรื่องถูกส่งกลับมาให้ตนดำเนินการแก้ไขปัญหาเอง จนล่าสุดตนจึงได้เดินทางมาร้องเรียนกับทางสมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนถึงเรื่องที่เกิดขึ้นและทางสมาคมได้พาตนไปร้องเรียนที่ธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ จึงได้รับคำตอบจากธนาคาร ว่า 1.ต้องการทราบว่าระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 11 ปี ธนาคารกรุงไทยดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร 2.พยานหลักฐานชัดเจน ลายเซ็นปลอม พนักงานจงใจทำผิดระเบียบ สุดท้ายโอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่นไม่ได้คืนให้ผู้ฝาก เหตุใดจึงละเว้นไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด เพื่อติดตามเงินคืน 3.ตามที่ออกแถลงการณ์วันที่ 16/1 เป็นเท็จ ขอให้อธิบาย และขอทราบผลการดำเนินการตรวจสอบวินัยพนักงาน นอกจากนี้ ตนยังเดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียน กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ไม่คืบหน้า

สำหรับคดีนี้ ตนฟ้องร้องธนาคารต่อศาล ซึ่งศาลขั้นต้นมีคำตัดสินเมื่อปี 2560 ยกฟ้อง และ ศาลอุทธรณ์ มีคำตัดสิน ปี 2561 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และนายเอกวิชญ์ ยื่นฎีกาสู้คดีต่อ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

“ ผมรู้สึกมืดแปดด้าน ไม่รู้จะหาทางออกยังไง เพราะไปขอความเป็นธรรมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าใดใด ตอนนี้บ้านของผมก็กำลังจะถูกยึด จึงได้ตัดสินใจ ปีนที่สูง ตั้งแต่ 06.00 น. เพื่อให้คนเห็นว่า ผมเดือดร้อน และต้องการเงินคืน ต้องขอโทษที่ทำให้ทุกคนลำบาก แต่ผมไม่รู้จะทำยังไง ผมไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าตัวตาย เพราะผมเตรียมเข็มขัดนิรภัยเซฟตี้มาอย่างดี หากไม่มีความคืบหน้าอีก ผมก็จะไปนอนอยู่ด้านหน้า ธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ เพื่อให้เห็นว่า ผมเป็นลูกค้าคนหนึ่งที่เดือดร้อน จากการกระทำของพนักงานธนาคาร แต่กลับไม่รับผิดชอบใดใด” นายเอกวิชช์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image