เปิดอุบายผัว-เมีย หลอกยังไง ตำรวจหลงเชื่อดีล ‘บิ๊กโจ๊ก’จ่ายหลักล้านแลกตำแหน่ง ตร.หิ้วฝากขังค้านประกัน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1มีนาคมที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคดนโลยี (บก.ปอท.) ควบคุมตัวนายกิตติศักดิ์ สิริวิทยาวงศ์ อายุ 32 ปี ชาว จ.สมุทรสงคราม (ผู้ต้องหาที่ 1) และนางสาวไพลิน วีอูบแก้ว อายุ 29 ปี ชาว จ.กรุงเทพมหานคร (ผู้ต้องหาที่ 2) ซึ่งเป็นสามีภรรยากัน และเจ้าของธุรกิจอะลูมิเนียม ปลอมไลน์เป็น พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) อ้างว่าสามารถช่วยวิ่งเต้นตำแหน่ง ระดับรองผู้บังคับการ -สารวัตร วาระประจำปี 2561 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา มายื่นคำร้องฝากขังต่อศาล ครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-12 มี.ค. เนื่องจากการต้องการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 3 ปาก รอผลตรวจของกลางและผลตรวจพิมพ์มือผู้ต้องหา

โดยคำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์ สรุปว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ทนายความของผู้เสียหายรายหนึ่ง(ปิดบังชื่อสกุล)ได้รับมอบอำนาจมาแจ้งความร้องทุกข์กับ พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับนายกิตติศักดิ์ และน.ส.ไพลิน ซึ่งได้หลอกลวงเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป โดยก่อนหน้าหน้าประมาณเดือน ม.ค. นายกิตติศักดิ์ อ้างว่า รู้จักกับพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. และอ้างว่ารู้จักบัญชีไลน์ ปลอมที่แสดงตนเป็น พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อมาตลอดว่าเป็นบัญชีไลน์จริง ต่อมาบัญชีดังกล่าวได้หลอกลวงขอยืมเงินผู้เสียหาย จนผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้จำนวน 9 ครั้ง ผ่านบัญชีของผู้ต้องหาทั้งสอง รวมมูลค่าความเสียหาย 1,520,000 บาท เมื่อติดตามทวงถามก็ถูกผลัดมาโดยตลอด ต่อมาผู้เสียหายทราบว่าตนเองถูกหลอกลวงจึงมอบอำนาจให้ทนายความมาแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสองและบุคคลที่เกี่ยวข้องจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ต่อมาวันที่ 27 ก.พ.เวลาประมาณ 13.00 น. ผู้ต้องหาทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้บริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านบางแค ก่อนควบคุมตัวมาที่ บก.ปอท. พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และร่วมกันฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 มาตรา 8 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 14 (1) วรรคท้าย และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 324(1) มาตรา 83

ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาทั้งสองให้การรับสารภาพ แต่ต่อมาในชั้นสอบสวนนายกิตติศักดิ์ ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ส่วน น.ส.ไพลิน ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

Advertisement

ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวน ได้ขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัวเกรงว่าผู้ต้องหาทั้งสองน่าจะหลบหนี

ศาลพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังได้

ต่อมาญาติยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 2 แสนบาทขอปล่อยชั่วคราวเฉพาะ น.ส.ไพลิน ผู้ต้องหาที่ 2 เพียงคนเดียว ส่วนผู้ต้องหาทึ่ 1 ไม่มีการยื่นขอประกัน

อย่างไรก็ตามศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า เป็นการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบ หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาที่ 2 ไปอาจยุ่งเหยิง กับหลักฐานและหลบหนีได้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image