ศาล 137 ปี 21 เม.ย.นี้ จัดกิจกรรมทั่วประเทศ มุ่งสู่ศาลดิจิทัล

สำนักงานศาลยุติธรรมเตรียมจัดงานครบรอบ 137 ปี ศาลยุติธรรม 21 เม.ย.นี้ เน้นจัดกิจกรรมทั้งส่วนกลาง-ทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้าเป็นศาลดิจิทัลหรือ D-Court ในปี 2563 มุ่งนำเทคโนโลยีมาใช้และให้บริการประชาชน เตรียมจัดกล้องวงจรปิดติดบัลลังศาลทั่วประเทศ เป็นหลักฐานหากเกิดเหตุพิพาทในศาล

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 2 เมษายน นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ได้เตรียมจัดงานวันศาลยุติธรรมครบรอบ 137 ปี ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 เม.ย. พ.ศ.2425 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศาลฎีกาสนามหลวง และครั้งนั้นได้โปรดฯ จารึกราชปรารภแสดงให้เห็นถึงพระบรมราโชบายในการปกครองแผ่นดินว่ามีพระราชประสงค์ให้ตั้งศาลขึ้นเป็นองค์กรในการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดี ทั้งนี้ทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะสงบสุขร่มเย็นหรือไม่ ก็ต้องอาศัยศาลเป็นสำคัญ จึงเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจะมีการกิจกรรมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค อย่างพร้อมเพรียงกันในวันที่ 20 -24 เม.ย.2562 ประกอบด้วยกิจกรรมบำเพ็ญกุศล กิจกรรมด้านวิชาการ กิจกรรมสาธารณประโยชน์ สำหรับกิจกรรมที่จัดยังสำนักงานศาลยุติธรรม คือวันที่ 20-24 เม.ย.นี้ เวลา 08.30 น.-16.30 น. จำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค ราคาประหยัด บริเวณหน้าอาคารศาลอาญา
วันที่ 20 เม.ย.นี้ เวลา 08.30 น.-16.30 น. แข่งกีฬาเนื่องในวันศาลยุติธรรม ประจำปีงบประมาณ 2562
วันที่ 21 เม.ย.2562 เวลา 08.30 น.-16.30 น. พิธีวันสถาปนาศาลยุติธรรม ประกอบด้วยพิธีสงฆ์ พิธีบวงสรวงยอดปราสาทศาลยุติธรรม ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 2 อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ข้าราชการศาลยุติธรรม ลูกจ้างประจำ และพนักงานศาลยุติธรรมดีเด่น ประจำปี 2562 ณ ห้องประชุมสัญญาธรรมศักดิ์ วันที่ 23 เม.ย.2562 เวลา 08.30 น.-16.30 น. จัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ศาลยุติธรรมกับการเปลี่ยนแปลงใน ยุคดิจิทัล”และเรื่อง “ล่ามเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” : คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ณ ห้อง 603 ชั้น 6 อาคารศาลแขวงพระนครเหนือ ถ.รัชดาภิเษกวันที่ 24 เม.ย.2562 เวลา 08.30 น.-16.30 น. จัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “การพัฒนางานส่งเสริมตุลาการกับการเปลี่ยนผ่านศาลยุติธรรมสู่ระบบศาลดิจิทัล ณ ห้อง603 ชั้น 6 อาคารศาลแขวงพระนครเหนือ ถ.รัชดาภิเษก

นายสราวุธ ยังกล่าวถึงการพัฒนาเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินการด้านต่างๆ ของศาลยุติธรรมนั้นในวาระครบรอบ 137 ปีด้วยว่า ก็ยังตั้งเป้าดำเนินการให้บรรลุตามแนวความคิด ศาลดิจิทัลหรือ D-Court ในปี 2563 ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมเตรียมความพร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ให้สอดคล้องและเหมาะสมต่อการทำงานและการให้บริการประชาชน เช่น การส่งข้อมูลสำนวนคดีผ่านระบบออนไลน์ ขณะนี้มีศาลชั้นต้นเปิดให้บริการคัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดีออนไลน์ผ่านโปรแกรมระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม CIOS แล้วจำนวน 225 ศาล , การติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในห้องพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมทั่วประเทศด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา คาดว่าจะสามารถติดตั้งให้แล้วเสร็จได้ภายในปีนี้ โดยเป้าหมายการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อรักษาความปลอดภัยภายในห้องพิจารณาคดี รวมถึงหากใครกระทำความผิดในห้องพิจารณาคดี ก็สามารถนำภาพและเสียงที่บันทึกไว้มาใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าเราอาจนำกล้องบันทึกภาพวีดีโอเพื่อเก็บรายละเอียดบันทึกในการสืบพยานหรือพิจารณาคดี อย่างในคดีศาลฎีกาคดีเลือกตั้ง หรือคดีอาญานักการเมืองก็ใช้ระบบการจัดเก็บ เนื่องจากจะเป็นคดีที่ขึ้นศาลครั้งเดียวเเล้วจบเลย ระบบการเก็บข้อมูลหากเก็ยเป็นเทปได้จะมีความสะดวก เเต่ในคดีที่เป็นศาลล่างที่ต้องมีการอุทธรณ์คดีที่ขึ้นไปสู่ศาลสูง หากตะพิจารณาอุทธรณ์เเล้วต้องไปดูเทปก็จะเป็นการใช้เวลาเยอะก็ใช้วิธีบันทึกถอดเทปเเละดูภาพเคลื่อนไหวประกอบเอา ซึ่งเรื่องการใช้วงจรปิดในห้องพิจารณาคดีจะมีประโยชน์เพราะหากมีข้อพิพาทในห้องพิจารณา ก็จะมีประโยชน์เพราะมีพยานหลักฐานเป็นทั้งภาพเเละเสียง

โดยงบประมาณที่ใช้ราว 177 ล้านบาท , ระบบตรวจสอบติดตามการมาศาลของพยานและคู่ความในคดีต่อเนื่องผ่านระบบ Application โดยการใช้ QR Code ในการตอบรับการมาศาลของพยานและตอบรับการเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท, การพัฒนาระบบส่งเอกสารและประกาศนัดไต่สวนโดยวิธีการลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ (e-Notice System) เพื่อเป็นระบบอิเล็กตรอนิกส์กลางสำหรับศาลใช้ในการประกาศนัดไต่สวนคำร้องขอต่างๆ แทนการประกาศทางหนังสือพิมพ์โดยมีสถิติการลงประกาศระบบดังกล่าว จำนวน 39,616 ประกาศ ผู้เข้าอ่านประกาศ 203,406 ครั้ง,การจ่ายเงินคืนค่าธรรมเนียมศาลให้แก่คู่ความด้วยระบบออนไลน์,การจัดทำโปรแกรมระบบงานฐานข้อมูลหมายจับ เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลการออกหมายจับและผลการจับกุมตามหมายจับระหว่างหน่วยงานศาลยุติธรรม กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยมีจำนวนหมายจับที่ออกหมายจับผ่านระบบแล้ว จำนวน 14,973 หมาย , ระบบแจ้งเตือนการส่งหมาย ส่งหมายข้ามเขต และรายงานผลหมายทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้เริ่มทดลองใช้งานกับศาลชั้นต้นในสังกัดสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 3 , การจัดพิมพ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้คู่ความคัดถ่ายสำเนาได้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง , การบริหารจัดการสำนวนคดีเพื่อลดการใช้กระดาษ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image