ศาลแพ่งยกฟ้อง 12 ก.ต.ศาลยุติธรรม หมิ่นประมาท’ชำนาญ รวิวรรณพงษ์’ เรียก 50 ล้าน

ศาลเเพ่งมีคำสั่งยกฟ้อง“ชำนาญ รวิวรรณพงษ์” ปธ.เเผนกคดีล้มละลายศาลฎีกา ฟ้อง 12 ก.ต. ละเมิดหมิ่นประมาท เรียก50ล้าน กรณีอภิปรายไม่ผ่านขึ้นรอง ปธ.ศาลฎีกา

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 เม.ย. ที่ศาลเเพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดชี้สองสถาน (นัดพร้อมคู่ความ) เพื่อฟังคำสั่งวินิจฉัยข้อกฎหมายในคดีที่ ชี้ขาดข้อกฎหมาย และชี้สองสถานและกำหนดแนวทางในการพิจารณาคดี พ.7256/2561 ที่นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา กับพวกซึ่งเป็นผู้พิพากษาในชั้นศาลฎีกา ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นรวม 12 คน ได้แก่ นายธงชัย เสนามนตรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, นางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี, นางวาสนา หงส์เจริญ, นายรังสรรค์ กุลาเลิศ, นายศิริชัย ศิริกุล, นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล, นายธนรัตน์ ทั่งทอง, นายสุวิชา สุขเกษมหทัย, นายกำพล รุ่งรัตน์, นางผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ, นายปรีชา ชวลิตธำรง ทั้งหมดเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็นจำเลย ในความผิดละเมิดหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จากกรณีการอภิปรายในที่ประชุม ก.ต. เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2561 ที่มีการพิจารณาเรื่องเสนอนายชำนาญ ขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา

โดย ก.ต. ทั้ง 12 คน จำเลย ได้ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายชี้ขาดเบื้องต้นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่

ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่สมควรวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 เสียก่อน จึงให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย งดชี้สองสถาน งดสืบพยานโจทก์จำเลย โดยวินิจฉัยในประเด็นสำคัญโดยสังเขปเป็น ประเด็นดังนี้

Advertisement

1.คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 196 ประกอบ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมพ.ศ.2543 มีสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(สำนัก ก.ต.) สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานธุรการในการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.บ.บริหารราชการศาลยุติธรรมพ.ศ.2543 สำนักงานศาลยุติธรรมจึงเป็นหน่วยงานของรัฐและก.ต. เป็นผู้ปฏิบัติงานในฐานะคณะกรรมการจึงเป็นเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539มาตรา 3

2.การอภิปรายของจำเลยทั้ง12ในที่ประชุมโดยนำข้อเท็จจริงมาจากเอกสารการพิจารณาของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประกอบประสบการณ์ในการทำงานของจำเลยทั้ง12ทั้งการอภิปรายเป็นอำนาจอิสระในการบริหารงานบุคคล การอภิปรายดังกล่าวเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของการดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 และพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมพ.ศ.2543

3.การแผยแพร่รายงานการประชุม การงดการเผยแพร่รายงานการประชุม เป็นการกระทำในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม

Advertisement

ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้ง12รับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 7 จะขาดนัด แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจึงมีผลถึงจำเลยที่ 7 ด้วย พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image