‘วิญญัติ’ เปิดเหตุผล กกต.ยกคำร้องยุบพปชร.หมด เหลือปมโต๊ะจีน-บัตรคนจน จวกตอบเหมือนแก้ต่างให้

“วิญญัติ” เปิดเหตุผล กกต.ยกคำร้อง ยุบ พปชร.ยกหมดเหลือประเด็นโต๊ะจีน กับอ้างบัตรสวัสดิการรัฐ จวกตอบกลับมาเหมือนเเก้ต่างให้ เเทนที่จะไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่ม

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ได้กล่าวถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้พิจารณาและวินิจฉัยส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเข้าข่ายการกระทำความผิดต่อกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของพรรค พปชร.มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลที่มีวัตถุประสงค์จัดตั้งพรรคการเมืองโดยผิดกฎหมาย มีกลุ่มบุคคลครอบงำการจัดตั้งพรรคโดยเรียกรับผลประโยชน์เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง และใช้ตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐโดยมิชอบ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้สมัครหรือพรรคการเมืองโดยอดีตรัฐมนตรีของพรรคดังกล่าว อีกทั้ง พปชร.กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้อำนาจการปกครองมาจากการปฏิวัติเป็นบุคคลที่มีที่มาโดยมิชอบ ยึดอำนาจมาบริหารประเทศต่อซึ่งไม่เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตย และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีหนังสือตอบกลับมาเเล้วลงวันที่ 5 เม.ย. เเต่ตอบกลับมาตนจึงติดใจในเหตุผลตามคำวินิจฉัยที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่เห็นความพยายามที่จะรวบรวมพยานหลักฐานและไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นจากประเด็นที่ร้องไป ซึ่งการร้องก็มีเจตนาให้ กกต.ได้สืบสวนสอบสวนต่อไป แต่ที่ตอบมานั้นกลับทำคล้ายแก้ต่างให้พรรคพลังประชารัฐเสียเอง ตนจึงอยากจะนำมาเผยเเพร่เพื่อประโยชน์สาธารณะให้ประชาชนได้ทราบถึงคำวินิจฉัยที่ทาง กกต.ยกคำร้องดังกล่าว มีเหตุผลดังนี้

ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้ขอให้พิจารณาและวินิจฉัยว่าการกระทำเข้าข่ายกระทำความผิดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคพลังประชารัฐความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
นายทะเบียนพรรคการเมือง ขอเรียนว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

1.การกระทำของนายชวน ชูจันทร์ กับพวก ซึ่งได้ยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐมีเจตนาแอบแฝง อันเป็นการกระทำแทนกลุ่มบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่เบื้องหลัง โดยขั้นตอนและกระบวนการขอจดจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดข้อบังคับของพรรคพลังประชารัฐมีลักษณะเป็นการให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกเข้ากระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำให้ดำเนินกิจกรรมจนเป็นเหตุให้พรรคการเมืองและสมาชิกขาดความอิสระหรือไม่

Advertisement

เห็นว่า เมื่อวันที่ 2 มี.ค.61 นายชวน ชูจันทร์ ผู้แจ้งการเตรียมจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เม.ย. นายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองให้แก่นายชวน ชูจันทร์ และผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ รวม 23 คน โดยเมื่อวันที่ 4 ต.ค.61 นายอุตตม สาวนายน ผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานประกอบตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองได้พิจารณาคำขอจดทะเบียน จัดตั้งพรรคพลังประชารัฐและเอกสารหลักฐานที่ยื่นพร้อมกับคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองถูกต้องและครบถ้วน ตามมาตรา 12-16 มาตรา เเห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวคือ ในส่วนของข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐนั้น ไม่มีลักษณะที่เป็นการให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมแต่อย่างใด อีกทั้ง นายชวน ชูจันทร์ ยังได้รับเลือกจากที่ประชุมจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร ประกอบกับตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 เป็นข่าวที่ปรากฏในหน้าสื่อมวลชน โดยนายชวน ชูจันทร์ กล่าวว่า “ผู้ที่จะมาร่วมดำเนินการกับพรรคพลังประชารัฐต้องมีอุดมการณ์ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ หลังจากที่ประเทศไทยเคยประสบปัญหาการเมือง ซึ่งตั้งเป้าดำเนินการทางการเมืองไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก และอาจเป็นความบังเอิญ ด้วยเป้าหมายที่ผู้ก่อตั้งพรรคต้องการความหมายของชื่อให้เกิดการรวมตัวกันทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชนมีเพื่อนที่รู้จักทำงานร่วมกับรัฐบาล คสช. เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แต่ไม่ได้ปรึกษาหารือกันถึงเรื่องการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ และไม่ได้คุยกันนานเป็นปีแล้ว”

ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่าการกระทำของนายชวน ชูจันทร์ กับพวกซึ่งได้ยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐมิได้มีเจตนาแอบแฝง กระทำการแทนกลุ่มบุคคลอื่นและขั้นตอนและการบวนการขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดข้อบังคับไม่มีลักษณะเป็นการให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกเข้ากระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำให้ดำเนินกิจกรรม จนเป็นเหตุให้พรรคการเมืองและสมาชิกขาดความอิสระแต่อย่างใด จึงยุติเรื่อง

2.การกระทำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้วิธีทางการเมืองที่สุจริตด้วยการชักชวน อดีต ส.ส.เข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยการอ้างถึงกรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้นโยบายประชานิยมต่อประชาชนเพื่อเป็นการจูงใจให้ลงคะแนนเสียงจนหมดแล้ว หากไม่มาเข้าร่วมสังกัดกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคอื่นๆ จะนำเอานโยบายอะไรไปสู้ได้และแน่นอนที่สุดการดูดในลักษณะนี้ย่อมต้องมีการเสนอเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด

Advertisement

เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 กำหนดว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2 เป็นข่าวที่ปรากฏในหน้าสื่อมวลชนโดยนายชวน ชูจันทร์ ได้ยืนยันว่าอุดมการณ์ของพรรคพลังประชารัฐตรงกับอดีต ส.ส.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งตามภาพข่าวเป็นขั้นตอนรวบรวมบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแต่อย่างใดว่าพรรคพลังประชารัฐหรือผู้ใด ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ให้บุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จึงเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างโดยการคาดคะเนและมิได้ปรากฏวัน เวลา และสถานที่ ว่ามีผู้ใดหรือมีพยานหลักฐานอ้างอิงที่สนับสนุนและมีความน่าเชื่อถือชัดแจ้งแต่อย่างใดว่าพรรคพลังประชารัฐหรือผู้ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐแต่อย่างใด อีกทั้งการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นเป็นเรื่องระหว่างพรรคการเมืองกับบุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวเดียวกันโดยบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับพรรคการเมืองซึ่งอย่างน้องต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า18 ปี และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9(1) (3) และ (5) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนบุคคลใดถูกแอบอ้างว่าเป็นสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐโดยไม่รู้เห็นหรือไม่สมัครใจอาจแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและลบชื่อออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯจึงยุติเรื่อง

3.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 10/2561 เรื่อง ให้บุคคลกลับไปดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่เดิม โดยการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการต่อรองเพื่อคืนตำแหน่งนักการเมืองท้องถิ่นหรือเพื่อแลกเปลี่ยนให้นักการเมืองท้องถิ่นระดับประเทศเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ โดยใช้อำนาจของกฎหมายเป็นฉากบังหน้าเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอาศัยที่ตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่มิใช่สมาชิกของพรรคพลังประชารัฐ แต่ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้พรรคพลังประชารัฐได้สมาชิกเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เห็นว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 10/2561 เรื่อง ให้บุคคลกลับไปดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่เดิม ลงวันที่ 26 ต.ค.61 นั้น เป็นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยคำสั่งดังกล่าวได้ระบุเหตุผลไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า บุคคลที่มีรายชื่อและตำแหน่งตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งหัวหน้า คสช.ได้ถูกหน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยุติเรื่องแล้ว ซึ่งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติตรวจสอบกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วยแล้ว เห็นชอบด้วย จึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ และกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว ลงวันที่ 15 พ.ค.58 ข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2558 เรื่อง แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น ลงวันที่ 25 มิ.ย.58 ข้อ 7 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 43/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ลงวันที่ 17 ก.ค.59 และข้อ 13 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 35/2560 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 ลงวันที่ 25 ก.ค.2560
นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้บุคคลที่มีรายชื่อดังกล่าวกลับไปดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม อีกทั้งจากการตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ปรากฏในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 10/2561 เรื่อง ให้บุคคลกลับไปดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่เดิม ลงวันที่ 26 ต.ค.61 จำนวน 12 รายชื่อ ปรากฏเพียง 2 รายชื่อคือ นายโกมุท ทีฆธนานนท์ และนายลือกฤต เพชรบดี เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้น จากเหตุผลประกอบการออกคำสั่งดังกล่าวแล้วแสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติได้ตรวจสอบกับหน่วยงานอื่นๆ แล้วเห็นชอบด้วย นายกรัฐมนตรีจึงได้ออกคำสั่งไว้ นอกจากนี้เรื่องการสมัครสมาชิกพรรคการเมืองนั้น เป็นเรื่องระหว่างพรรคการเมืองกับบุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกันและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งประสงค์จะสมัครสมาชิกพรรคการเมืองนั้นๆ จึงยุติเรื่อง

4.นายอุตตม สาวนายน ในฐานะ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ได้อาศัยอำนาจออกคำสั่งไปยังธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยกู้ให้บุคคลธรรมดากู้เงินเพื่อซื้อแท็กซี่เพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับพรรคพลังประชารัฐ

เห็นว่าเป็นข่าวที่ปรากฏในหน้าสื่อมวลชน โดยปรากฏเพียงว่า นายอุตตม สาวนายน เดินทางไปเปิดโครงการในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายอุตตม สาวนายน กล่าวเพียงว่า “รถแท็กซี่ในปัจจุบันเกือบ 50% หรือประมาณ 35,000 คัน เป็นรถที่เหลืออายุการใช้งานไม่ถึง 5 ปี ซึ่งตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป รถจะทยอยหมดอายุปีละกว่า 1 หมื่นคัน โครงการฮัก TAXI จึงได้เข้ามาช่วยลดภาระในส่วนของ 1 หมื่นคันแรก โดยใช้วงเงินเดิมของธนาคารที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้ของบประมาณเพิ่ม ธพว.ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้จัดทำโครงการ ฮัก TAXI เพื่อช่วยเสริมแกร่งแท็กซี่ไทย และยกระดับการประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยธนาคารได้เริ่มเปิดให้ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่แสดงเจตจำนงความต้องการเข้าร่วมโครงการฮัก TAXI เสริมแกร่งแท็กซี่ไทย ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.61 โดยตั้งเป้ารับสมัครลงทะเบียนในรอบแรกว่า 1 หมื่นราย ซึ่งโครงการนี้ผู้ประกอบอาชีพจะได้รับการพัฒนาการประกอบอาชีพ ควบคู่กับเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามแนวทางอัตราเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำของสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนเท่านั้น และไม่มีข้อเท็จจริงใดยืนยันว่า นายอุตตม สาวนายน ใช้อำนาจในฐานะที่เป็น รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ออกคำสั่งไปยัง ธพว.ปล่อยกู้ให้บุคคลธรรมดากู้เงินเพื่อซื้อแท็กซี่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพรรคพลังประชารัฐแต่อย่างใด นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจอันเป็นการพัฒนา ส่งเสริม ช่วยเหลือและสนับสนุนการจัดตั้ง การดำเนินงาน การขยายหรือปรับปรุงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวคือกิจการผลิตสินค้า กิจการให้บริการโดยการให้สินเชื่อ ค้ำประกัน ร่วมลงทุน ให้คำปรึกษา แนะนำ หรือให้บริการ โดยให้ รมว.คลัง และ รมว.อุตสาหกรรมเป็นผู้รักษาตาม พ.ร.บ.ธนาคารการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 ตามนัย มาตรา 11 มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 ดังนั้น การที่นายอุตตม สาวนายน ร่วมเปิดโครงการฮัก TAXI ในวันที่ 27 ธ.ค.61 ที่อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในฐานะ รมว.อุตสาหกรรม จึงยุติเรื่อง

 

5.พรรคพลังประชารัฐได้จัดงานระดมทุนโต๊ะจีน โดยประกาศเป็นการทั่วไปว่าโต๊ะจีนจำนวน 600 ล้านบาท ซึ่งผู้ร่วมงานปรากฏเป็นข่าวโดยทั่วไปว่ามีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ซื้อโต๊ะจีน และต่อมาในวันที่ 18 ม.ค.62 พรรคพลังประชารัฐสามารถแจงเงินระดมทุนได้เพียง 90 ล้านบาท แต่ไม่สามารถแจงเงินส่วนที่เหลือในจำนวนเงิน 650 ล้านบาท ภายในระยะเวลาที่กำหนด คือวันที่ 18 ม.ค.62 จึงเป็นความผิดตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

เห็นว่า กรณีผู้ร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงรอผลการพิจารณาดังกล่าวเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในประเด็นตามข้อ 5

6.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นำเอานโยบายประชารัฐของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ มีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้

6.1 มีการโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ถ้าใครไม่ลงทะเบียนพรรคจะไม่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้มอบหมายให้คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่อไป
6.2 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รู้เห็นเป็นใจและยินยอมให้พรรคพลังประชารัฐติดประข้อความว่า “สนับสนุนนโยบายรัฐบาลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

เห็นว่า เรื่องนโยบายหาเสียงนั้นกฎหมายมิได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่า จะต้องมีความแตกต่างหรือเหมือนกับนโยบายของรัฐบาลแต่อย่างใด ซึ่งการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณา ให้คำนึงถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามนัยมาตรา 57 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ดังนั้น เมื่อพรรคการเมืองใดเห็นว่านโยบายของรัฐบาลใดเป็นประโยชน์กับประชาชนก็สามารถสนับสนุนนโยบายนั้นๆ ได้ อีกทั้งนโยบายดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ.2561 ข้อ 7(6) สร้างความสุข ความสงบให้กับประชาชนกินอิ่มนอนหลับอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น การที่พรรคพลังประชารัฐติดประกาศป้ายหาเสียงซึ่งมีข้อความว่า “สนับสนุนนโยบายรัฐบาลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จึงไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่จำต้องพิจารณาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รู้เห็นเป็นใจและยินยอมให้พรรคพลังประชารัฐติดประกาศป้ายหาเสียงข้อความว่า “สนับสนุนนโยบายรัฐบาลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือไม่ จึงยุติเรื่อง

7.เมื่อวันที่ 8 ก.พ.62 นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐมีมติยื่นต่อ กกต.ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งได้เข้ามาบริหารประเทศด้วยการยึดอำนาจการปกครองประเทศด้วยวิธีการพิเศษ จึงเข้าข่ายกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามความในมาตรา 92(2) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 48 บัญญัติว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

อีกทั้งต่อมามีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 โดยมาตรา 279 ยังบัญญัติรับรองว่า “บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่ง หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางการบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติ ครม.แล้วแต่กรณี บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติ มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า บรรดาการกระทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้รับการรับรองไว้ว่าการกระนั้นผิดต่อกฎหมายให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงและยังถือเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688/2561 ดังนั้น เมื่อการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.พ.62 จึงเป็นการเสนอรายชื่อบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐเห็นสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงยุติเรื่อง

8.การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นายอุตตม สาวนายน, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นการครอบงำ ชี้นำ สั่งการในพรรคพลังประชารัฐทั้งที่มิใช่เป็นสมาชิก ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในบัญชีแต่งตั้งเป็นนายกฯ

เห็นว่า นายอุตตม สาวนายน, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นทั้งผู้ร่วมจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐและเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จึงไม่อาจเกิดกรณีที่กระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคพลังประชารัฐในลักษณะที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐหรือสมาชิกขาดความอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม นอกจากนี้ มิได้ปรากฏวัน เวลา สถานที่ และพยานหลักฐานอ้างอิงที่สนับสนุนและมีความน่าเชื่อถือชัดแจ้งแต่อย่างใดว่า พล.อ.ประยุทธ์ หรือนายสมคิด กระทำการใดอันเป็นการครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคพลังประชารัฐในลักษณะที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐหรือสมาชิกพรรคพลังประชารัฐขาดความอิสระ จึงยุติเรื่อง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ส่วนหากผลการพิจารณาตามข้อ 5 และข้อ 6.1 เป็นอย่างไร จักแจ้งให้ท่านทราบต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image