สวน’วิษณุ’แต่งตั้งกก.สรรหาส.ว. ประชาชนผู้เสียภาษีต้องมีส่วนรู้เห็นทุกขั้นตอน

นายกสมาคมทนายฯยกหลักเกณฑ์ประกาศราชกิจจาฯสวน“วิษณุ”ปมเเต่งตั้ง คกก.สรรหา สว.ประชาชนผู้เสียภาษีต้องมีส่วนรู้เห็นทุกขั้นตอนชี้ชัดผลประโยชน์ประชาชนไม่ใช่เรื่องภายใน ฉะ รธน.สืบทอดอำนาจเห็นชัด250 สว.ไม่เเตกเเถวเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนขาดสำนึกจริยธรรมร้ายเเรง

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊คความเห็นข้อกฎหมายกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมายประเด็นเรื่องคำสั่ง คสช.ตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. ชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่ได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ลงในเพจสมาคมทนายความเเห่งประเทศไทยมีข้อความว่า

การให้สัมภาษณ์และเสนอความเห็นต่อสื่อมวลชนของนายวิษณุ เครืองาม ในขณะทำหน้าฝ่ายกฎหมายให้กับ คสช. และรัฐบาลยุคนี้ ในเรื่องคำสั่ง คสช. ตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. ชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่ได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา พร้อมชี้แจงเหตุผลว่าเป็นเรื่องขั้นตอนภายในที่ไม่เกี่ยวกับประชาชนในกรณีดังกล่าว ซึ่งผมมีความเห็นที่แตกต่างและขัดแย้งในบทสัมภาษณ์ของความเห็นของท่านด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ตั้งโดย คสช. ตามรัฐธรรมนูญต้องแต่งตั้งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ประสบการณ์ด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง แม้มิได้มีบทบัญญัติให้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ตามแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่จะนำไปสรรหา ส.ว. จำนวน 250 คน เป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในสภาโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งของประชาชน โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว. ทั้งหมดมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ได้ นั้นก็หมายความได้ว่า ในเรื่องดังกล่าวทั้งหมดประชาชนทั้งประเทศต้องมีส่วนเกี่ยวข้องและรับรู้ถึงกระบวนการตั้งแต่รายชื่อกรรมการสรรหา วิธีการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถตามที่กำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ เพื่อมาทำหน้าที่ ส.ว. ซึ่งหมายความว่าประชาชนมีส่วนสำคัญในฐานะเจ้าของประเทศหรือเจ้าของภาษีที่ต้องเข้ามีส่วนรู้เห็นทุกขั้นตอนในกระบวนการดังกล่าว

Advertisement

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ทราบดีว่าได้กำหนดรูปแบบให้มีการสืบทอดอำนาจไว้อย่างชัดเจนในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ส.ว. ที่ก็ปรากฎชัดเจนแล้วว่า บรรดาส.ว. จำนวน 250 คนที่คณะกรรมการสรรหาได้คัดเลือกมา เป็นคนรอบข้างที่เคยรับใช้ คสช. ทั้งสิ้น และผลก็ออกมาแล้วว่าทั้งหมดโหวตเลือกนายกชื่อ พลเอกประยุทธ์ฯ แบบไม่แตกแถว และนอกจากจะไม่ปรากฎรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ในเบื้องต้นแล้ว และที่ซ้ำร้ายยิ่งแย่ไปกว่านั้นก็ปรากฎว่าบรรดากรรมการสรรหาที่ คสช. ตั้งขึ้นมากลับเลือกกันเองและเลือกตัวเองขึ้นมาเป็น ส.ว. จำนวน 5 คน อีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าพฤติกรรรมเหล่านี้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญขัดต่อกฎหมายว่าผลประโยชน์ทับซ้อนและการขัดกันซึ่งประโยชน์ อันเกิดจากการขาดจิตสำนึกด้านจริยธรรมอย่างร้ายแรง อีกทั้งบรรดา ส.ว.ทั้งหมดก็ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ ซึ่งมาจากภาษีของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

2.หลักเกณฑ์ลักษณะของเรื่องที่จะนำลงในราชกิจจานุเบกษาได้จะต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
1. เรื่องที่เฉพาะกฎหมายบัญญัติให้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2. ข้อมูลข่าวสารของราชการที่จะต้องส่งลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
3. เรื่องที่กฎหมายบัญญัติมิได้บัญญัติให้ต้องประกาศหรือส่งพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สมควรเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้การที่นายวิษณุ เครืองาม จะตอบว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่งไม่ใช่กฎหมายไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะเป็นขั้นตอนภายใน เป็นการตอบที่ขัดและแย้งกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างสิ้นเชิงไม่สอดคล้องและตรงกับเจตนารมย์ของกฎหมาย เพราะถึงแม้ว่ากฎหมายไม่ได้บัญญัติให้การประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามข้อ 1. แต่ใน
เรื่องนี้จะอยู่ในข้อ 3. คือ เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรงที่สมควรเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า กระบวนการเริ่มต้นการแต่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. จนเลือก ส.ว. เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนไทยทั้งประเทศที่มีส่วนได้เสียโดยตรงจำเป็นต้องรับรู้และมีส่วนร่วมถึงขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ในการสรรหาอย่างเปิดเผยตามกฎหมาย เนื่องจากการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นเรื่องของประชาชนโดยตรงเพราะ ส.ว. จะไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนตลอดจนกินเงินเดือนภาษีของประชาชน และก็ไม่สามารถที่จะปฎิเสธได้เลยว่าเป็นเรื่องภายในไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน เพราะนอกจากการแต่งตั้ง ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยแล้วยิ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากที่ต้องให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้รับรู้ถึงกระบวนการเริ่มต้นและมีการตรวจสอบว่าได้ทำโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด เพราะเป็นผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งหากได้เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ตั้งแต่แรกและมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามกฎหมายก็จะเป็นการแสดงเจตนาโดยสุจริต มิได้มีเจตนาซ่อนเร้นและแอบแฝง และที่สำคัญจะเป็นการให้เกียรติกับประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง

Advertisement

สรุปโดยรวมได้ว่าถ้าหากจุดเริ่มต้นจากกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว บรรดา ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสรรหาโดย คสช. ที่อ้างตัวเองว่าได้เข้ามาตามช่องทางของรัฐธรรมนูญจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image